เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 มีรายงานว่า พนังกั้น “ลำน้ำยัง” ใน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เกิดแตกส่งผลให้น้ำทะลักท่วมชุมชน ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เส้นทางถูกตัดขาดชาวบ้านไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ จนท.เร่งนำเรือเข้าช่วยเหลือ
ขณะที่อ่างเก็บน้ำจำนวน 13 แห่งจากที่มีอยู่จำนวนทั้งหมด 16 แห่งของ จ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างเก็บน้ำที่อยู่ติดกับเทอกเขาพนมดงรักตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา และอ่างเก็บน้ำโอว์ตาลัด ปรากฏว่า น้ำได้ล้นสปิลเวย์ไหลทะลักลงมาตามลำห้วยและตามลำน้ำสาขา เอ่อล้นเข้าไปท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านในเขตหลายอำเภอจำนวนกว่า 20,000 ไร่ รวมทั้งถนนหลายสายถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ส่วนบ้านเรือนของชาวบ้านยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ขณะที่เขื่อนราศีไศลได้ยกประตูระบายน้ำขึ้นสูง 2.50 เมตร เพื่อให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลตามธรรมชาติ ซึ่งจากการสำรวจของ นายบุญประสงค์ นวลสายย์ รักษาราชการแทน หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ พบว่า การที่เขื่อนราศีไศล ยกประตูระบายน้ำสูงขึ้นยังไม่มีผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือนไร่นาของชาวบ้านตามเส้นทางที่แม่น้ำมูลไหลผ่านแต่อย่างใด
นายอำเภอภูสิงห์ เปิดเผยว่า จากการที่ตนพร้อมด้วย จนท.โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ กำนัน ต.ห้วยตึ๊กชู และ สมาชิก อส.อ.ภูสิงห์ ได้ร่วมกันสำรวจ สถานการณ์ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่ง ในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เนื่องจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและมีน้ำป่าไหลเข้าสู่อ่างในห้วงที่ผ่านมา จำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง เต็มความจุอ่างและล้นสปิลเวย์ รายละเอียดดังนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 ซม. อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 ซม. อ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 15ซม. และอ่างเก็บน้ำโอว์ตาลัด น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 ซม. สำหรับความเสียหาย จากการสำรวจข้อมูลขั้นต้น พบว่ามีถนนในหมู่บ้าน และเส้นทางสำหรับใช้ในการเกษตร เสียหาย จำนวน 25 เส้น ซึ่งตนได้สั่งการให้ อบต.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้สัญจรได้ก่อนชั่วคราว และบางส่วนอยู่ในระหว่างรอการซ่อมแซมเนื่องจากต้องรอให้ระดับน้ำลดลงก่อนจึงจะดำเนินซ่อมแซมได้ ส่วนพื้นที่ทางการเกษตร ที่ได้รับผล กระทบ ส่วนใหญ่เป็นที่นา สวนยางพารา ซึ่งมีน้ำท่วมขัง ประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งนี้เนื่องจากว่า อำเภอภูสิงห์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่ง ซึ่งหากเกิดฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลเข้าสู่อ่าง หากล้นสปิลเวย์เกิน 50 – 80 ซม. มวลน้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่รองรับน้ำตามลำห้วยสาขา จาก อ.ภูสิงห์ ขุขันธ์ ปรางค์กู่ วังหิน และจะเข้าสู่ตัว อ.เมืองศรีสะเกษ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน
ทางด้าน นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนขอเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำริมลำห้วยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว ขอให้อพยพไปอยู่ที่สูงและปลอดภัยเนื่องจากว่า เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินของมีค่า ขอให้เคลื่อนย้ายไปก่อนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ตนได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอประสานงานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำท่วมและพร้อมที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยทันที โดยให้เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่วนบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมได้ลดลงแล้ว คือ อ.กันทรลักษ์ ตนจะร่วมกับ นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอกันทรลักษ์ และนายทรงชัย รุจิรารังสรรค์ นายกเทศมนตรีเมืองกันทรลักษ์และทุกภาคส่วนทำการล้างเมืองทำความสะอาดครั้งใหญ่เพื่อให้อำเภอกันทรลักษ์สะอาดสะอ้าน ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดิมต่อไป
สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ศรีสะเกษ ภาพ/ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวภูมิภาค