พล.อ.สุรยุทธ์ องคมนตรี มั่นใจเวลาสัมมนา อิสลามศึกษาของปราชญ์ 37 ประเทศ จะสร้างสันติสุข

องคมนตรี เชื่อมั่นเวทีปราชญ์มุสลิมโลก ณ ม.อ.ปัตตานี นำมาซึ่งแนวทางการขจัดความขัดแย้งโดยใช้กระบวน
การการศึกษาอิสลามศึกษา
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เชื่อมั่นเวทีสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติจากปราชญ์มุสลิมโลก
ที่ ม.อ.ปัตตานี เป็นการระดมแนวคิดการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และ
สร้างเครือข่ายทางการศึกษาในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2560) ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พลเอกสุรยุทธ์
จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 37 ประเทศ จำนวน 500 คน ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย , บาห์เรน , บรูไน , อียิปต์ , อังกฤษ , กินี , อินเดีย , อินโดนีเซีย , อิรัก , ญี่ปุ่น , จอร์แดน , คูเวต , ลาว , ไลบีเรีย , ลิเบีย , จีน , มาซิโดเนีย , มาเลเซีย , มัลดีฟส์ , โมร็อกโก , ไนจีเรีย , โอมาน , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , กาตาร์ , รัสเซีย , ซาอุดิอารเบีย , ศรีลังกา , ซูดาน , ติมอร์-เลสเต , ตุรกี , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , ยูกันดา , ยูเครน , เยเมน สหรัฐอเมริกา , และไทย มีการนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียงอาทิ เชคอุมัร อุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์ , เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน , ดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัม อัล-คอลัยละฮฺ ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม ประเทศจอร์แดน ,
ดร.อะหมัด บิน หะมัด ญีลาน ที่ปรึกษา เลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย , ดร.อับดุลอาซีซ
อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์ อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก , ศ.ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สาธารณรัฐกินี , ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล-วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี , ผศ.ดร.อับดุลเลาะ
หนุ่มสุข วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี , ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นต้น

พลเอกสุรยุทธ์จุลานนท์ องคมนตรี ประธานเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข กล่าวว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้งสามครั้งที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่สำคัญในการตอบสนองความท้าทายของการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน อันที่จะสร้างความสมดุลระหว่างอิสลามศึกษากับโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยรูปแบบการศึกษาอิสลามจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในแนวคิดและรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีการนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการศึกษาอิสลาม การสร้างปัจเจกชนและสังคมแห่งสันติสุข และการวิเคราะห์สังเคราะห์ประสบการณ์ของกลุ่มประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในการนำแนวคิดสู่การปฏิบัติ อันที่จริงแล้ว
สิ่งคุกคามสันติสุขโลกมิใช่อิสลาม แต่เป็นความรุนแรงอันเกิดจากการขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน และเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากหลักการอิสลามที่ถูกต้อง สถาบันการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา รวมทั้งปราชญ์และผู้รู้จะต้องพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาและจัดระบบการเรียนการสอนให้เป็นแนวทางเพื่อขจัดปัญหาขัดแย้งในทุกระดับโดยใช้อัลกุรอานเป็นบรรทัดฐาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่จะพัฒนาสังคมมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง บทบาทสำคัญของสถาบันศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา คือการสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างไรก็ตามสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาถูกมองว่าเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านรัฐหรือกลุ่มหัวรุนแรง ในความเป็นจริงแล้วศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติสอนให้มนุษย์มีความรักต่อกันและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ สถาบันการศึกษาทุกแห่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะระงับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สร้างพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้การพัฒนาจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเมื่อสังคมมีความสันติอย่างยั่งยืนเท่านั้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญกับการสร้างบัณฑิตเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ดังนั้นหลักสูตรและการเรียนการสอนด้านอิสลามจะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้หลักการศาสนาที่เหมาะสมกับความท้าทายในความทันสมัยของโลกปัจจุบัน การสัมมนาในครั้งจะทำให้เกิดหลักสูตรแนวทางการพัฒนารายวิชา และรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมแห่งการศึกษาอิสลาม เพื่อสนองแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป