ผู้บริหารประเทศ และนักวิชาการศาสนาอิสลาม 40 ประเทศทั่วโลก ระดมสมองใช้ศาสนาขับเคลื่อน
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ที่ ม.อ.ปัตตานี
ม.อ.ปัตตานี เชิญนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ และปราชญ์มุสลิม จาก 40 ประเทศ ทั่วโลก
ร่วม 400 คน ร่วมสัมมนา การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกัน
อย่างสันติสุขในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี
ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา และรองศาสตราจารย์อิ่มจิต
เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดสัมมนา “การศึกษาอิสลาม :
พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา ซึ่งเป็นการจัดการสัมมนาครั้งที่ 4
ในรอบ 8 ปี โดยในครั้งนี้มีนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ และปราชญ์มุสลิม จาก 40 ประเทศ ทั่วโลก
ร่วม 400 คน ร่วมการสัมมนา
รองศาสตราจารย์ ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความเป็นมาของการสัมมนา และวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ครั้งนี้ความว่า สืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งแรก เมื่อปี 2553 นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา จาก 16 ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนด “ปฏิญญาปัตตานี การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้น
เมื่อปี 2556 ได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษาให้ก้าวหน้าสู่นานาชาติสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยังยื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 ได้กำหนดให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็นสถาบันที่พร้อมในการบริการวิชาการแก่ชุมชนทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา บัณฑิต รวมทั้งคณาจารย์ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าใจถึงวิถีของอิสลามสายกลาง สามารถที่จะไตร่ตรองสิ่งต่างๆ เพื่อยับยั้งสิ่งที่ไม่ดีจนสามารถสร้างความสงบร่มเย็นแก่ชุมชนได้
จากผลของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้เอาแนวคิด หลักการ และวิธีการต่างๆ ต่อยอด
จัดโครงการการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่ง
การขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” (Islamic Education as a Driving Force for
a Peaceful Coexistence and Development) ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เพื่อเป็นเวทีให้การแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาและผู้นำทางศาสนาอิสลามเพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านอิสลามศึกษาในระดับอาเซียนและระดับโลกและเพื่อให้สังคมตระหนักในคุณค่าของอิสลามชี้นำให้ประชาชาติ
มีความสามัคคี ปรองดอง และสมานฉันท์และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา กล่าวถึงผลการจัดการสัมมนาครั้งที่ผ่านมาความว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยการจัดสัมมนาครั้งแรก เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 เรื่อง “บทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ ผลที่ได้รับจากการประชุมสัมมนาในครั้งนั้น คือ ปฏิญญาปัตตานี (FATONI DECLARATION) มีสาระสำคัญคือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคีในการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับให้มีคุณภาพและสามารถเป็นฐานในการประกอบอาชีพและพัฒนาสังคมให้มีความสันติสุข การสัมมนาครั้งที่ 2 ในปี 2556 ในหัวข้อ “อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย” ผลจากการสัมมนาคือ ได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเอเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต สร้างภาพมุสลิมในประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกมุสลิมในมิติเสรีภาพ
ทางวิชาการและการนับถือศาสนาเกิดเครือข่ายอิสลามศึกษา มีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา มีการร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน
ในการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 นักวิชาการมุสลิมโลก รวม 500 คน จาก 25 ประเทศ เปิดประเด็น “ค่านิยมอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ทำให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมอิสลามและกลั่นกรองเอาประสบการณ์การนำค่านิยมเหล่านี้ไปใช้ในชุมชนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่แตกต่างกันทั่วโลก สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสันติภาพและความสงบสุขในชุมชนที่หลากหลาย พร้อมทั้งหลักกฎหมายอิสลามด้านดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความพอดี (สายกลาง) ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และสิทธิมนุษยชนกลุ่มน้อยในสังคม ซึ่งนำไปสู่การความร่วมมือกันอย่างดีและจริงจังระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา ปัญญาชน องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์และนักคิดทุกท่าน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในปัจจุบัน
นอกเหนือจากการมีปฏิญญาปัตตานี และออกแถลงการณ์ของการสัมมนาในแต่ละครั้ง แล้วยังได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์บูรณาการอิสลาม และให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนเพื่อการเป็นมุสลิมที่ดี ยึดปฏิบัติตาม ดุลยภาพอิสลาม, จัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาภาษาอาหรับเพื่ออิสลามศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามาตรฐานภาษาอาหรับของนักเรียนอิสลามศึกษาในประเทศไทย, จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (ISCC) ซึ่งเป็นคณะทำงาน
เพื่อกำหนดทิศทางของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ, โครงการเครือข่ายอิสลามศึกษานานาชาติ (International Islamic Studies Network – IISN) เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรระหว่างมหาวิทยาลัย อาทิมหาวิทยาลัยในประเทศตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น การจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอิสลา (ATSDC), การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจัดการข้อมูลอิสลาม (iCentre) เพื่อเป็นศูนย์ในการจัดระบบ ผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการอิสลามศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถการเข้าถึงบริการ, จัดตั้งศูนย์วิจัยประยุกต์หลักการสายกลาง (วะสะฎิยะฮ) ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อศึกษาวิจัยหลักการ
สายกลางเพื่อประยุกต์ใช้ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อนำสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเคารพ ให้เกียรติและยอมรับในความหลากหลายทางอัตลักษณ์, โครงการวิสาหกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (SEED) เป็นกิจการเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวมที่มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการทำงานร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาระดับ อุดมศึกษากับชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นระบบและรับผิดชอบในฐานะเป็นหุ้นส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินการสัมมนา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4 การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (Islamic Education as a Driving Force for a Peaceful Coexistence and Development) ในวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 โดยครั้งนี้มีเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 40 ประเทศ จํานวน 500 คน มีประเทศที่ตอบรับการเข้าร่วมมาแล้ว 37 ประเทศ ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย , บาห์เรน , บรูไน , อียิปต์ , อังกฤษ , กินี , อินเดีย ,อินโดนีเซีย , อิรัก , ญี่ปุ่น , จอร์แดน , คูเวต , ลาว , ไลบีเรีย , ลิเบีย , จีน , มาซิโดเนีย , มาเลเซีย , มัลดีฟส์ ,โมร็อกโก , ไนจีเรีย , โอมาน , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , กาตาร์ , รัสเซีย ,
ซาอุดิอารเบีย , ศรีลังกา , ซูดาน ,ติมอร์-เลสเต , ตุรกี , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , ยูกันดา , ยูเครน , สหรัฐอเมริกา , เยเมน และไทย โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนานอกจากนี้จะมีการนำเสนอผลงานวิจัย บทความวิชาการจากนักวิชาการด้านอิสลามทั่วโลก กว่า 40 บทความ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกัน
อย่างสันติสุข ยังจะมีการประชุมของผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษาชั้นนำของโลกเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาอีกด้วย
รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวขอบคุณ
สื่อมวลชน ผู้สนับสนุนการจัดการสัมมนานานาชาติ และผู้ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าวความว่า ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ทุก 2 ปี และได้รับเกียรติจากสื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติและทำข่าวเผยแพร่เจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยฯในการนำอิสลามศึกษามาเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประชาคมโลก และยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษาให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ ตลอดจนเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการด้านอิสลามศึกษาแก่วิทยาลัยอิสลามศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากร และรูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการ ตลอดจนเพื่อสร้างสังคมสันติสุขและความสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอขอบพระคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนการจัดสัมมนามาอิสลามศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ขอบพระคุณนักวิชาการ และนักการศาสนาจากทั้งใน
และต่างประเทศที่ร่วมผลักดันการจัดการสัมมนาทุกครั้งที่ผ่านมา และขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนที่ส่งเสริมสนับสนุนการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินภารกิจไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความรู้ การวิจัย
การบริการวิชาการแก่สังคม สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษา และขอขอบพระคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่กรุณาประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารของมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ และคาดหวังว่าท่านจะกรุณาร่วมเป็นเกียรติในการสัมมนา“การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”
ในระหว่างวันที่ 24-26กรกฎาคม 2560 อีกครั้งหนึ่ง.