พม่าท้าโลกไม่ออกวีซ่าให้ยูเอ็นเข้าสอบละเมิดโรฮิงญา-แฉกวาดล้างหนักจับผู้บริสุทธ์ สุดชั่วเผาทั้งเป็น

วันที่ 15 กรกฎาคม หญิงชาวมุสลิมโรฮิงญาลอบเล่าเหตุการณ์ถูกละเมิดสิทธิกับนักข่าวที่เดินทางเยือนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตั้งแต่เดือนต.ค. ในรัฐยะไข่ของพม่าเป็นครั้งแรก ท่ามกลางการคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่

“ลูกชายของฉันไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาถูกจับตัวไปตอนทำงานอยู่ในไร่” ซาร์เบดา หญิงชาวโรฮิงญาที่อุ้มลูกอีกคนอยู่ในอ้อมแขน เปิดเผยกับสื่อ ท่ามกลางหญิงโรฮิงญาอีกหลายคนที่ต่างพูดว่าสามีของตนถูกจับกุมตัวด้วยสาเหตุที่ไม่ถูกต้อง

ในเดือนพ.ย. กองทัพพม่ากวาดล้างหมู่บ้านที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมืองหม่องดอ โดยสหประชาชาติระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 75,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ และผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยระบุว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการข่มขืน ทารุณ วางเพลิง และการสังหาร โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงในปฏิบัติการปราบปรามนั้น มีแนวโน้มเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้กับคณะของภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในการเดินทางเข้าประเทศเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านั้น

ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่อนุญาตให้นักข่าวอิสระและผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ปราบปราม แต่ในสัปดาห์นี้ กระทรวงข้อมูลข่าวสารได้อนุญาตให้นักข่าวมากกว่า 10 คน ทั้งนักข่าวท้องถิ่นและนักข่าวต่างชาติ เดินทางเข้าไปในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยตำรวจชายแดนให้การดูแล

นักข่าวใช้เวลาเกือบ 2 วัน ที่เมืองบุติด่อง ในเขตอ.หม่องดอ รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีกิจกรรมการปราบปรามของทหารเกิดขึ้น

นักข่าวถูกพาไปยังหมู่บ้านกะยากองตอง หนึ่งใน 3 หมู่บ้านที่นักข่าวขอเข้าไป ซึ่งก่อนหน้านี้รอยเตอร์ได้รวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งชาวบ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่และที่หลบหนีไปบังกลาเทศ เกี่ยวกับการปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นในกะยากองตองและหมู่บ้านใกล้เคียงในกลางเดือนพ.ย.

ซาร์เบดา อายุ 30 ปี หญิงชาวบ้านจากหมู่บ้านกะยากองตอง แม้เธอจะสามารถไปเยี่ยมหาลูกชายอายุ 14 ปี ที่ค่ายตำรวจ ซึ่งเป็นที่ที่ลูกชายของเธอถูกควบคุมตัวแยกออกไปจากผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ แต่เธอไม่แน่ใจว่าลูกชายมีทนายความหรือไม่

รอยเตอร์รายงานในเดือนมี.ค. ว่า มีเด็กชาย 13 คน อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวในช่วงที่ทหารดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ เด็กชายทั้ง 13 คน รวมอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกตั้งข้อหา 423 คน ภายใต้พระราชบัญญัติสมาคมนอกกฎหมาย ที่ระบุว่าการเข้าร่วมหรือช่วยเหลือกลุ่มกบฎเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ประชาชนจากหมู่บ้านกะยากองตองถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 32 คน ถูกจับกุมตัว และเสียชีวิต 10 คน ครูประจำหมู่บ้านที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า มีชาวบ้านประมาณ 3,000 คนหลบหนีไประหว่างปฏิบัติการกวาดล้าง

ลามูติ อายุ 23 ปี ชาวบ้านจากหมู่บ้านกะยากองตองอีกคนหนึ่ง ชี้ไปที่กองเถ้าถ่านเล็กๆ ที่ระบุว่าพบร่างพ่อของเธอที่นั่น โดยเธอเล่าถึงวิธีที่พ่อถูกมัดและโยนเข้าไปในบ้านและเผาทั้งเป็นจนเสียชีวิต ส่วนแม่ของเธอถูกจับตัวในเวลาต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่ระบุว่าเรื่องที่แม่ของเธอร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่กุขึ้น แม่ของลามูติต้องโทษจำคุก 6 เดือน

ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (14) เจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดนระบุว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งสร้างข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นถูกตั้งข้อหาและถูกจำคุกเรื่องจากกล่าวเท็จกับเจ้าหน้าที่

“สื่อบอกว่าพวกเราเผาบ้านเรือนประชาชนและข่มขืน พวกเขาให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ผู้บัญชาการตำรวจชายแดนพม่า กล่าวกับนักข่าว และยังโต้แย้งการประเมินของสหประชาชาติเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่หลบหนี โดยอ้างว่าบันทึกของท้องถิ่นระบุว่ามีผู้ที่หายไปเนื่องจากเกิดเหตุความขัดแย้งเพียง 22,000 คน

ฝ่ายเจ้าหน้าที่พม่าระบุว่าการสืบสวนภายในประเทศ ภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย และคณะกรรมการที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหัวหน้าคณะ เป็นวิธีที่เหมาะสมแล้วที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

มีรายงานด้วยว่า ทางการเมียนมาไม่ออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติที่จะเข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริงการละหมิดสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา

หญิงโรฮิงญาเผยเรื่องราวถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิขณะสื่อต่างชาติลงพื้นที่ยะไข่
ซากบ้านที่ถูกเผาทำลายในหมู่บ้านตินเม รัฐยะไข่. — Reuters/Simon Lewis.
หญิงโรฮิงญาเผยเรื่องราวถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิขณะสื่อต่างชาติลงพื้นที่ยะไข่
ชาวบ้านชาวโรฮิงญายืนดูสื่อต่างชาติที่เดินทางเยี่ยมหมู่บ้านหม่องนามา. — Reuters/Simon Lewis.
หญิงโรฮิงญาเผยเรื่องราวถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิขณะสื่อต่างชาติลงพื้นที่ยะไข่
ตำรวจรักษาชายแดนพม่าลงเรือนำคณะสื่อท้องถิ่นและต่างชาติลงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ในเมืองบุติด่อง รัฐยะไข่. — Reuters/Simon Lewis.

Cr.MGR