เบาหวานส่งผลความเสียหาย 200,000 ล้าน ต้องรู้ทัน! ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา…ภัยซ้อนเร้นจากเบาหวาน
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี(NCDs)กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัญหาสำหรับทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา สำหรับประเทศไทยก็มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นจนอาจทำให้ประเทศต้องมีความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี[1]ซึ่งหนึ่งในโรคของกลุ่มโรคไม่ติดต่อนั้นที่มีความสำคัญอย่างมาก ได้แก่ โรคเบาหวาน ที่อาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ต่อหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดเล็กได้หากว่าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
รศ.นพ.ภฤศ หาญอุตสาหะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผยว่า เบาหวาน เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคจอประสาทตาที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก จากการคาดการณ์เชื่อว่าจำนวนของผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มจาก 285 ล้านคนในปี พ.ศ.2553 เป็น 439 ล้านคนในปี พ.ศ.2573[2]ทั้งยังพบว่าในปี พ.ศ.2573 กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มเป็น 8.4% และกลุ่มประเทศแปซิฟิกตะวันตก 5%[3]จึงอาจเป็นไปได้ว่าในกลุ่มคนเหล่านั้นจะสามารถประสบกับโรคแทรกซ้อนผ่านทางดวงตาได้หากว่าไม่มีการดูแลและรักษาตนเองเป็นอย่างดี
สำหรับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสูญเสียการมองเห็น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. เบาหวานขึ้นจอประสาทตาชนิดไม่มีเส้นเลือดงอกใหม่ และ2. เบาหวานขึ้นจอประสาทชนิดมีเส้นเลือดงอกใหม่ ซึ่งระดับการสูญเสียการมองเห็นนอกจากจะขึ้นอยู่กับระดับของเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้วยังอาจเกิดจากภาวะจุดภาพชัดบวมด้วย โดยจุดภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตานี้ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีการมองเห็นลดลง และรองลงมาคือภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา ซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้ สามารถเรียกรวมกันได้ว่า ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่คุกคามการมองเห็น
จากผลการวิเคราะห์จากงานวิจัย35 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 22,000 คนทั่วโลก[4]เผยให้เห็นว่า มีความชุกของการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ประมาณ6.96% ในขณะที่จำนวนกว่า6.81% อยู่ในระดับจุดภาพชัดบวมจากเบาหวาน และคิดเป็นจำนวนถึง 10.2% เป็นผู้ป่วยในระดับของเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่คุกคามการมองเห็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ มีผู้คนจำนวนมากที่มีการมองเห็นลดลงและกลายเป็นผู้พิการทางการมองเห็นตามกฎหมายอันมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่คุกคามการมองเห็นและจุดรับภาพชัดบวมนั่นเอง
อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยจุดภาพชัดบวมจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตายังสามารถทำได้โดยการใช้ลักษณะทางคลินิกเป็นหลัก และอาศัยการฉีดสารเรืองแสงรวมถึงการถ่ายภาพด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์จอประสาทตาแม้ในสมัยก่อนการยิงเลเซอร์จอประสาทตาจะถือเป็นวิธีการรักษาหลักของภาวะจุดภาพชัดบวมจากเบาหวาน แต่ในปัจจุบันได้มีการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการการเกิดโรคจุดภาพชัดบวมจากเบาหวานมากขึ้น จึงทำให้วิธีการรักษามีความก้าวหน้ามากขึ้นจนนำมาสู่การใช้วิธีการฉีดยาในกลุ่ม Anti-vascular endothelial growth factor (Anti-VEGF) เข้าน้ำวุ้นตาแทนโดยในระยะแรกจำเป็นต้องฉีดทุกเดือนและลดลงเป็นฉีดเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรค สำหรับในบางกรณีอาจใช้การฉีดยาเสตียรอยด์ (Corticosteroid) เข้าน้ำวุ้นตาเพื่อการรักษาก็เป็นได้นอกจากนี้ยังมีการยิงเลเซอร์ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาทั้งในรูปแบบของวิธีการหลักและวิธีการเสริมที่ต้องใช้คู่กับการรักษาในรูปแบบอื่นๆ
“เพื่อให้เกิดการรักษาจุดภาพบวมจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่ได้ผลดีนั้น จำเป็นอย่างยิ้งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปกับการรักษาความดันโลหิตและไขมันในเลือดการออกกำลังกายเป็นประจำ การควบคุมน้ำหนัก โดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด รวมจนถึงการเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็คถึงอัตราความเสี่ยงจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน”รศ.นพ.ภฤศ กล่าวทิ้งทาย
[1]ข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ(IHPP) ประจำปี 2552
[2]ข้อมูลวิทยาลัยจักษุวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Academy of Ophthalmology, APAO) และสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation)
[3]ข้อมูลวิทยาลัยจักษุวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Academy of Ophthalmology, APAO) และสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation)
[4]ข้อมูลจากDiabetic Care ประจำปี 2555