ประธานกรรมการไอแบงก์เปิดงาน “Ibank Iftar Dinner สานสัมพันธ์สื่อมวลชนมุสลิม”
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) นำโดย นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Ibank Iftar Dinner สานสัมพันธ์สื่อมวลชนมุสลิม” ในช่วงก่อน10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการทำความดีของพี่น้องชาวมุสลิม ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนมุสลิม จากการร่วมสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารของธนาคารด้วยดีเสมอมา โดยมีนายมนต์ชัย รัตนเสถียร กรรมการธนาคาร พร้อมด้วย นางสาววีณา เตชาชัยนิรันดร์ กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคาร อ.อรุณ บุญชม ผู้ชำนาญการชะรีอะฮ์ ดร.อณัส อมาตยกุล ประธานที่ปรึกษาด้านชะรีอะฮ์และคณะนายชัยนันท์ ลภิธนานุวัฒน์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการธนาคาร ตลอดจนนายวิสุทธิ์ บริบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ คณะผู้บริหารธนาคาร และสื่อมวลชนมุสลิม ให้เกียรติร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ โรงแรมอัลมีรอซ เขตสวนหลวง เมื่อเร็วๆนี้
ต่อจากนั้น ภาคพิธีการเริ่มด้วยความศิริมงคล โดยการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน โดย อ.มูฮัมมัดชุกรี่ บัลบาห์ ประธานสถาบันอัลกุรอ่านประเทศไทย และพิธีเปิดงานโดย นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารกล่าวต้อนรับและเปิดงาน
“ผมขออวยพรให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคนสามารถบำเพ็ญกุศล ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ ตลอดจนการชำระซะกาตในเดือนรอมฎอน ซึ่งไอแบงก์ เปิดให้บริการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องมุสลิม ชำระซะกาต บัญชีซะกาต ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขอให้ผลของการบำเพ็ญตน ส่งเสริมให้ทุกคนประสบแต่ความสุข ความเจริญ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งอันพึงปรารถนาโดยทั่วกัน“ และในนามของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านสื่อมวลชนมุสลิมทุกท่านที่ได้ร่วมเผยแพร่ข่าวสารของธนาคารด้วยดีเสมอมา” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ต่อด้วยการเสวนาของคณะที่ปรึกษาด้านชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยประเด็น “ชะรีอะฮ์กับบทบาทธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อพี่น้องมุสลิม” โดยวิทยากร ประกอบด้วย อ.อรุณ บุญชม ผู้ชำนาญการด้านชะรีอะฮ์ ดร.อณัส อมาตยกุล ประธานคณะที่ปรึกษาด้านศาสนา ดร.มะรอนิง สาแลมิง ที่ปรึกษาด้านศาสนา อ.ปราโมทย์ มีสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านศาสนา อ.เสนีย์ อยู่เป็นสุข ที่ปรึกษาด้านศาสนา และนายสัญญา ปรีชาศิลป์ ผู้จัดการบริหารส่วนสื่อสารองค์กร ดำเนินการเสวนา
ดร.อณัส อมาตยกุล กล่าวว่า “สังคมมุสลิมควรมีความมั่นใจสูงสุดว่าธนาคารอิสลามเป็นธนาคารที่มีศักดิ์ และสิทธิ์พร้อมต่อชื่อธนาคารอิสลาม เนื่องจากธุรกรรมของธนาคารนี้เป็นธุรกรรมตามหลักชะรีอะฮ์ที่อัลลอฮฺทรงประทานมาผ่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลั๊ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แม้ว่าเคาเตอร์ธนาคารจะเหมือนกับเคาเตอร์อื่นๆ ทั่วไป แต่วิธีการที่จะเกิดผลิตภัณฑ์ของเราทั้งหมดอยู่ในสายตา และการดูแลของบอร์ดชะรีอะฮ์”
อ.อรุณ บุญชม กล่าวว่า “ถ้าจะนับอายุธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่มีสาขาแรกสาขาคลองตัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ถึงวันนี้มีอายุ 15 ปีแล้ว ก็ได้พบกับอุปสรรค์หลายอย่าง แต่ทางผู้บริหาร และรัฐบาลก็พยามแก้ไข” “ธนาคารอิสลามได้ดำเนินการตามหลักชะรีอะฮ์ในทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารนำออกมาให้บริการ ถ้ามีผู้ใดสงสัยในผลิตภัณฑ์ของธนาคารถูกต้องหรือยัง ถ้ามีผู้เห็นหนทางว่าไม่ถูกต้องขอให้นำเสนอว่าที่ถูกต้องต้องทำอย่างไรก็ขอให้นำเสนอเพื่อมาแก้ไขให้เป็นไปโดยถูกต้อง ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อพี่น้อง และพระผู้เป็นเจ้าในวันอาคีเราะห์ ยืนยันว่าทุกผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ตอนนี้นั้นถูกต้องตามหลักการศาสนา”
ดร.มะรอนิง สะแลมิง กล่าวว่า “บางครั้งเราเห็นธนาคารอิสลามในประเทศต่างๆ ในผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันแต่อาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ในหลักการวินิจฉัยที่ต่างกันทำให้เกิดการตีความที่ต่างกัน แต่ทุกฝ่ายจะให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ใช่ว่าต่างกันแล้วจะต้องผิด”
อ.ปราโมทย์ มีสุวรรณ กล่าวว่า “เราในฐานะที่ปรึกษาทุกคนรับผิดชอบภาระที่หนัก ก็คือเรื่องของอมานะห์ ที่ต้องกลั่นกรองทุกอย่างให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ขอให้มีความมั่นใจในสิ่งที่เราได้กลั่นกรองออกมา”
อ.เสนีย์ อยู่เป็นสุข กล่าวว่า “หากท่านต่างๆ ตั้งบริษัทของตนขึ้น มาตรฐานก็จะต่างกัน เราก็จะรู้จักในส่วนขององค์กรของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่อิสลามมีคือ ชะรีอะฮ์ซึ่งมีมาตรฐานเดียว ไม่เหมือนกันองค์กรที่ตั้งขึ้นมามีหลายมาตรฐาน ธนาคารอิสลามถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของชะรีอะฮ์ ความรับผิดชอบตรงนี้บางครั้งเราทำหน้าที่เต็มกำลังความสามารถแล้ว ชะรีอะฮ์บนความสามารถของมนุษย์ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องเพราะมนุษย์มีข้อบกพร่อง ฉะนั้นชะรีอะฮ์ของธนาคารอิสลามเราทำเต็มกำลังความสามารถของเราเท่าที่เรามีความสามารถ”
ดร.อณัส อมาตยกุล กล่าวย้ำก่อนการจบการเสวนาว่า “ถึงความจำเป็นที่พี่น้องมุสลิมต้องใช้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยว่า “คำสอนอิสลามที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ทรัพย์สิน การค้าขาย และการลงทุน มีอยู่ในชะรีอะฮ์ โลกมุสลิมก็ใช้แบบนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าในศตวรรศที่ 17-19 ชาวตะวันตกได้ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ทุกแห่งที่เขายึดได้สิ่งแรกก็คือ การบังคับให้เลิกใช้ชะรีอะฮ์ ดั้งนั้นในช่วง 300 ปีทำให้มุสลิมไม่ได้ใช้ชะรีอะฮ์ในเรื่องธุรกรรมทางการเงินเลย ดังนั้นเมื่อประเทศมุสลิมได้รับเอกราชจึงไม่มีธนาคารอิสลาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราถูกบีบบังคับให้เลิกใช้ชะรีอะฮ์ แต่บัดนี้เมื่อมีเสรีภาพ รัฐธรรมนูญไทยได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เมื่ออัลลอฮตะอาลาทรงประทานให้ดินแดนแห่งเสรีภาพนี้เรามีสิทธิ์ที่จะใช้การทำอามาล อิบาดะห์ และมุอามาลาต ในธุรกรรมทางการเงินได้ จึงถือเป็นวายิบ(หน้าที่)สำหรับพวกเราทุกท่านในการฟื้นฟูอิสลาม และหวังว่าพวกเราจะก้าวเข้ามาแบกรับภาระทำให้ชะรีอะฮ์นี้มั่นคงบนหน้าแผ่นดิน”
ก่อนจบงาน นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ได้ให้เกียรติ ขึ้นกล่าวแสดงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไอแบงก์ว่า “หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 30 พ.ค.60 ที่ผ่านมาให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนธนาคารอิสลามฯ 18,100 ล้านบาท พร้อมให้โอนหนี้เสียไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ IAM ยกเว้นหนี้เสีย 3,600 ล้านบาทในส่วนลูกค้าที่เป็นมุสลิม และนายกรัฐมนตรีย้ำให้หาคนทำให้ไอแบงก์เสียหายให้ได้ และในฐานะประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และทีมงานได้เดินหน้างานฟื้นฟูตามแผนงานต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้”
นอกจากนี้ยังได้ให้เกียรติจับรางวัลรายชื่อสื่อมวลชน พร้อมมอบรางวัลให้กับผู้โชคดีจำนวน 6 ท่าน 6 รางวัล โดยได้รับการสนับสนุนของรางวัลจากโรงแรมอัลมีรอซ ได้แก่ NationTV , TV สำนักจุฬาราชมนตรี,TV MuslimTime ได้รับรางวัลร่มอัลมีรอซ , นสพ. พับลิกโพสต์, TMTV, นิตยสารข่าวสารมุสลิม,NBTได้รับรางวัลบัตรรับประทานอาหารกลางวัน และอาหารค่ำสื่อละ1 รางวัลๆละ 2 ท่าน เรียกเสียงฮือฮา และความประทับใจทั่วห้อง และท้ายสุดก่อนปิดงาน อ.อรุณ บุญชม ผู้ชำนาญการด้านชะรีอะฮ์ ได้ให้เกียรติกล่าวดุอาขอพร เพื่อเป็นความสิริมงคล ในโอกาสช่วงเวลา 10 คืนสุดท้ายของรอมฎอน แก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย