EXIM BANK วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโต 3.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี

 
แนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2560 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง มีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ราว 3.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้

• โครงการลงทุน Mega Projects หลายโครงการเริ่ม Kick off ในช่วงครึ่งหลังของปี และเริ่มมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐยังได้ปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ให้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ฟื้นตัว

ขวัญใจ เตชเสนสกุล

• แรงส่งจากกำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ดังเห็นได้จากรายได้เกษตรกรฟื้นตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2560 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตรก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กำลังซื้อบางส่วนยังเพิ่มขึ้นหลังโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบอายุถือครอง ทำให้ภาระการผ่อนชำระรถยนต์บางส่วนหมดไป ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ ในการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ

• การท่องเที่ยวกำลังกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP รวม ที่ขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขหลักเดียวในช่วง 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15% แล้วในปัจจุบัน

• ภาคส่งออกกลับมาเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากยอดส่งออกหดตัวติดต่อกันถึง 3 ปี โดย เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 และขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ที่โตถึง 5.7% นับเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าภาคส่งออกกลับมาเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่

• เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายดีขึ้น โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญของไทย ล่าสุด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 3.5% สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นการปรับขึ้นยกแผงทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่

• การค้าโลกกลับมาเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ล่าสุด IMF คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกปี 2560 จะขยายตัว 3.8% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การค้าโลกกลับมาขยายตัวสูงกว่า GDP โลก ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลเชิงบวกค่อนข้างมากต่อประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง

• ราคาน้ำมันยังยืนเหนือระดับปีก่อนหน้า จากข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนเกินได้ระดับหนึ่ง และอุปสงค์การใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีส่วนผลักดันให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน  อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพารา ซึ่งมียอดส่งออกรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวม

• การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก กลับมาขยายตัวสูง หลังหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการส่งออกที่มีแนวโน้มสดใส ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป อาทิ

• กระแส Protectionism  ที่ยังคงครุกรุ่น แม้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยจะผ่อนคลายลง แต่สหรัฐฯ อาจหยิบยกมาตรการที่มิใช่ภาษี มาเป็นเครื่องมือหลักในการลดการขาดดุลการค้าเป็นระยะๆ ได้

• ภัยก่อการร้ายและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสัญญาณเชิงบวกของการค้าโลกอยู่เป็นระยะ

• อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและยากที่จะคาดการณ์ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งเครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันที่มีความหลากหลายขึ้น ทำให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายรวดเร็วมาก ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบมาถึงค่าเงินได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ท่ามกลางภาวะส่งออกในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มดี  ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวลดังได้กล่าวมาแล้ว หากพิจารณาในมิติของผู้ประกอบการ มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของ SMEs ที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ พบว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดทั้งอาวุธและเกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนได้จาก

• สัดส่วน GDP ของ SMEs ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 38% ต่อ GDP ในปี 2550 มาอยู่ที่ระดับกว่า 41% ในปัจจุบัน อีกทั้ง SMEs ยังถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่จ้างแรงงานมากถึง 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เท่ากับว่า SMEs เป็นแหล่งที่ช่วยทำให้การกระจายตัวของรายได้ของประเทศดีขึ้น

• GDP ของ SMEs ขยายตัว สูงกว่า GDP รวมของประเทศ สะท้อนได้ว่า SMEs มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมด

อย่างไรก็ตามมี SMEs เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าออกไปต่างประเทศ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ที่คิดเป็นเพียง 27% ของมูลค่าส่งออกของประเทศเท่านั้น ขณะเดียวกัน SMEs ยังอ่อนไหวต่อปัจจัยความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ไตรมาส 1 ปี 2560 ที่หดตัว 13.5% สวนทางกับการส่งออกรวมของประเทศในเทอมบาทที่ขยายตัวได้ 3.1%

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น มีนัยที่น่าสนใจว่า “ทำไม SMEs ไทยจึงเก่งเฉพาะในประเทศ ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับข้อจำกัดใด จึงยังมีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งออกได้ไม่มากในปัจจุบัน” ซึ่งจากข้อมูลพบว่าข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญอยู่หลักๆ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง การเผชิญกับเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวด และมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการส่งออก
EXIM BANK ในฐานะหนึ่งในกลไกสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามผลักดันให้ SMEs ที่มีศักยภาพขยายตลาดและกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการออกบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” เพื่อหวังจะติดทั้งอาวุธและให้เกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป