ถึงแม้จะนอนไปแล้ว แต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอ ซึ่งสาเหตุมาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอน หากมีข้อความเข้ามา สมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรไป เพราะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น
“ละเมอแชต”โรคอุบัติใหม่ thaihealth
เมื่อสมองปลุกให้ตื่นทำให้ร่างกายนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน
โรคละเมอแชต (Sleep Texting) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ถูกบัญญัติศัพท์ขึ้นมาจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
พฤติกรรมเปลี่ยน โรคใหม่ๆ ก็อุบัติ
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยในปี 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าแต่ละบ้านมีทีวีอย่างน้อย 1 เครื่อง โดยร้อยละ 99.7 มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่างน้อย 1 เครื่อง รองลงมาคือโน้ตบุ๊ก ร้อยละ 89 และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 79 ทำให้มีการชมรายการโทรทัศน์ออนไลน์ผ่านจออื่นๆ ที่ไม่ใช่ทีวีเพิ่มขึ้น
การปล่อยตัวถลำลึกกับเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยความสะดวกให้คนมากขึ้น แต่ต้องแลกกับผลร้ายต่อสุขภาพบางอย่าง หากไม่รู้จักความพอดี เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เปรียบเป็นเหมือนดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้
อาการของโรคละเมอแชต มีสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ จนสร้างความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมตอบสนองกับข้อความที่แจ้ง
เตือนเข้ามาโดยทันที รวมไปถึงอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกชนิดร่วมด้วย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในรายการพบหมอรามา ถึงโรคนี้ว่า พอรูปแบบพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิต แต่ไม่ถึงกับการเป็นโรคเลยทีเดียว
“บางคนใช้อุปกรณ์หลายตัวพร้อมกัน ตาดูทีวี ทำงานบนโน้ตบุ๊ก และใช้มือถือไปในเวลาเดียวกัน ทำให้กระทบเรื่องการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคข้างเคียงได้ การรับข้อมูลมากๆ จะทำให้เสพติดข้อมูล อยู่อย่างสงบๆ ไม่ได้”
การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดี พญ.พรรณพิมล บอกว่า ตอนกลางวันคนเราทำงานยุ่งเหยิงในหลายเรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาในช่วงก่อนเข้านอนให้ดีและผ่อนคลายตัวเอง
“การนอนหลับวันละ 6 ชั่วโมงเป็นตัวเลขมาตรฐานทั่วไป ปัจจุบันคนใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลักในชีวิตประจำวันทำให้รับข้อมูลนำเข้าตลอดเวลาทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ กดดูมือถือเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย พฤติกรรมใหม่ที่เข้ามาด้วยความเคยชินในกิจวัตรประจำวัน ทั้งเวลากินเวลานอนนำข้อมูลเข้าอยู่ตลอดเวลา เล่นมือถือจนหลับ หรือสิ่งแรกที่ทำเวลาตื่นก็ดูมือถือทันที ตอบสนองข้อมูลที่เข้ามาจากมือถือตลอดเวลา หรือบางทีกึ่งหลับกึ่งตื่น กลายเป็นปฏิกิริยาตอบสนองแบบทันที”
ผลกระทบที่เกิดจากอาการละเมอแชตคือ นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับไม่ได้เต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคโมโนโฟเบียฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน ทั้งยังอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
พญ.พรรณพิมล ชี้ช่องถึงการป้องกันว่า ทำชีวิตประจำวันให้ปกติ ให้มือถือเป็นส่วนอื่นของชีวิตบ้าง อย่าหมกมุ่นมากเกินไป ควรทำแต่พอดี หากติดมากควรลองอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟนบ้าง อาจใช้วิธีตัดใจปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตก่อนนอน จะช่วยให้ห่างไกลจากการละเมอแชต และฟื้นฟูสุขภาพการนอนหลับให้เต็มอิ่ม ตื่นเช้ามาพร้อมความสดชื่นแจ่มใส ร่างกายแข็งแรงขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น
วิธีแก้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ
การลุกขึ้นมาแชตเมื่อได้ยินเสียงข้อความดังขึ้นในขณะที่หลับไปแล้ว คำแนะนำของ นพ.ไมเคิล เกิลบ์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องโรคหรืออาการละเมอแชตบอกว่า อาการนี้มักเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากที่ผล็อยหลับ ซึ่งนับว่าเป็นการขัดจังหวะช่วงเวลาการนอนที่สำคัญที่สุด นอกจากจะทำให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังเป็นผลให้เกิดโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ วิธีเลี่ยงที่ดีที่สุดคือปิดมือถืออย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอน หรือวางไว้ให้ไกลมือในลักษณะที่ไม่สามารถเอื้อมได้ถึง
คนยุคปัจจุบันมุ่งความสนใจไปที่เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้แทบจะทุกนาที จนกลายเป็นความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา แม้กระทั่งเวลาจะหลับก็ยังเอามือถือไปจิ้มเล่นเรื่อยเปื่อย และหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ที่ยังคามือ หรือวางนิ่งอยู่ข้างตัว อาการได้ยินเสียง Notification แจ้งเตือนแม้ในขณะหลับ ระบบประสาทตอบสนองทันทีด้วยการหยิบสมาร์ทโฟนมาพิมพ์ข้อความตอบกลับ ทำให้ข้อความที่ถูกพิมพ์ออกไปไม่สามารถจับใจความได้ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่สามารถจำได้ว่าตัวเองพิมพ์อะไรลงไปบ้าง ทางแก้คือลองใช้วิธี Digital Diet ตั้งเป้าว่าจะไม่เข้าเฟซบุ๊กหรือแชตกับใครก็ตามเป็นเวลาสามวัน ตัดขาดตัวเองออกจากโลกออนไลน์ และติดต่อกับคนอื่นผ่านการคุยโทรศัพท์โดยตรงเท่านั้น
นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และผู้อำนวยการคลินิกปัญหาการนอน โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า พฤติกรรมละเมอแชตเจอได้เยอะเลย โดยเฉพาะในวัยรุ่นและประชากรที่อดนอน ซึ่งอันตรายเพราะไม่รู้ว่าส่งข้อความอะไรออกไป
“แนะนำว่าให้ปิดเครื่องมือสื่อสารก่อนเวลานอน 1 ชั่วโมง”
นอกจากนี้ การละเมอแชตจะทำให้เกิดการอดนอนแบบเรื้อรังได้ ในการบรรยาย เรื่อง 108 ปัญหาโรคการนอน (Sleep-Wake Disorders) นพ.สุรชัย บอกว่า สมองเวลาหลับอาจทำงานแรงกว่าตอนตื่นก็มี ซึ่งการอดนอนทำให้เกิดผลกระทบในระยะสั้นคือ ง่วงนอน อารมณ์แปรปรวน ความจำระยะสั้นเสื่อม สูญเสียความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ วางแผน และทำกิจกรรม ไม่มีสมาธิ ส่วนในระยะยาวจะอ้วน เพราะระดับฮอร์โมนเกรลินสูง (ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความอยากอาหาร) มีอาการอ่อนเพลีย มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และโรคกระเพาะ ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
cr: สสส