“เหงา”   คือความรู้สึกที่อันตรายที่สุด….

125

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะถึงเวลาที่ผมทำงานเป็นจิตแพทย์มาครบ 10 ปีแล้วครับ

จริงๆไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าแก่ แต่ที่อยู่ๆพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่า

ในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทางจิตใจอย่างเดียวที่ผมยังหาทางรักษาให้คนไข้ไม่ได้ก็คือ
เวลาที่คนไข้เด็กและวัยรุ่นบอกผมว่าเขารู้สึก “เหงา”
คือถ้ารู้สึกกังวล กลัว เศร้า โกรธ เสียใจ น้อยใจ รู้สึกผิด อิจฉา อาฆาต อะไรพวกนี้ผมยังพอจะช่วยให้สบายใจขึ้นได้
แต่ถ้าคนไข้บ่นว่าเหงาเมื่อไหร่ ผมก็มักจะต้องถอนหายใจเฮือกทุกที
เพราะความรู้สึกเหงานั้น มันไม่เหมือนความรู้สึกอื่นก็ตรงที่
ต่อให้เด็กๆจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแพทย์ผู้รักษา

หรือต่อให้เขาจะมีเพื่อนมาก เป็นที่รักของคุณครูที่โรงเรียนสักเพียงใด
แต่หากเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นห่างเหินกับคุณพ่อคุณแม่ หรือว่ามีอะไรสักอย่างที่ทำให้พูดคุยกัน หรือ เข้าใจกันไม่ได้
ยังไงเด็กๆของเราก็มักจะยังรู้สึกเหงาอยู่ดีครับ
และถึงแม้ว่าความเหงานั้นจะยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นโรคทางจิตเวช (ซึ่งก็ถูกต้องแล้วเพราะมันไม่ใช่โรค)
แต่ที่มันมาเกี่ยวข้องกับจิตแพทย์ก็เพราะว่า
ผมมีคนไข้วัยรุ่นหลายคนทีเดียวครับ ที่บ้างก็ใช้ยาเสพติด บ้างอยู่ดีๆก็เอาคัตเตอร์มากรีดแขนตัวเองเล่น 
บ้างวันดีคืนดีก็หนีออกจากบ้านไปอยู่บ้านแฟน (จนพลาดตั้งครรภ์ก็มี)
ที่เมื่อพูดคุยกันไปลึกๆแล้วเขาเหล่านั้นมักจะบอกว่า จุดเริ่มต้นนั้นมาจากความรู้สึก “เหงา” 
และก็อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นครับว่าในปัจจุบัน “ความเหงา” นั้นยังไม่มีทางรักษา
แต่สามารถป้องกันได้ด้วยความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.มีช่วงเวลาดีๆกับลูก
เพราะมีผู้ปกครองหลายบ้านเลยครับ ที่บอกกับผมว่า ลูกจะเหงาได้ยังไง ในเมื่อพ่อกับแม่ก็อยู่บ้านตลอด กินข้าวด้วยกันตลอด ไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกัน
แต่เมื่อผมถามลูกของเขาว่า รู้สึกยังไงเวลาที่อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ 
หลายคนก็จะตอบว่า เบื่อ รำคาญ หงุดหงิด เครียด
นั่นแปลว่าถึงจะอยู่ด้วยกันบ่อยก็จริง แต่อาจมีวิธีการดูแลบางอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
เช่น คุณอาจจะต้องลองประเมินตนเองดูหน่อยนะครับว่าใน 10 ชั่วโมงที่อยู่ด้วยกัน คุณมีเวลา พูดคุยกันดีๆ หรือทำอะไรสนุกๆ กับลูกสักกี่ชั่วโมง
และ คุณใช้เวลาไปกับการดุ เตือน สอน บ่น แนะนำ สั่ง บังคับ เขาสักกี่ชั่วโมง
หากอย่างหลังมันเยอะกว่าอย่างแรกมากๆ การพยายามเพิ่มเวลาที่จะทำกิจกรรมกับลูก และ พยายามทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปลอดการสอนการตำหนิกัน ก็น่าจะช่วยให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียดน้อยลงได้ครับ
2.เตรียมตัวให้พร้อมที่จะฟังลูก
เพราะความรู้สึกเหงา อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยวจะเกิดขึ้น ถ้าลูกรู้สึกว่า เขาคุยกับพ่อแม่ของเขาไม่ได้
ซึ่งสาเหตุนั้นก็มีหลากหลายครับ เช่น คุณพ่อคุณแม่บางบ้านนั้น อาจเป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ชนิดที่ว่าถ้าโกรธเมื่อไหร่เป็นต้องมีข้าวของพัง
หรือคุณพ่อคุณแม่บางบ้านก็เป็นคนขี้กังวลมากจนลูกรู้สึกว่าถ้าเล่าอะไรให้ฟัง พ่อกับแม่อาจจะเครียดกว่าเขาร้อยเท่า
เมื่อเด็กๆของเราเรียนรู้ว่า พูดไปแล้วคุณพ่อคุณแม่จะทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิม และ จะไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
แน่นอนว่าลูกก็จะเริ่มอยากพูดคุยกับเราน้อยลงไปเรื่อยๆครับ
ดังนั้น เพื่อให้ลูกมั่นใจ และ สบายใจที่จะเข้ามาพูดคุยด้วยเวลาที่เขามีเรื่องไม่สบายใจ หรือ ไปทำอะไรแย่ๆมาก็ตาม 
คุณพ่อคุณแม่จึงควรพัฒนาทักษะในการเป็นพ่อแม่คน(ปกติ)อยู่เสมอครับ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำพูด การควมคุมอารมณ์ การคาดหวังอะไรให้เหมาะสมกับความเป็นจริง การปรับพฤติกรรมลูกแบบเชิงบวก การให้อภัย การปล่อยวาง ฯลฯ  
แต่ก็มีคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยรุ่นหลายคนบอกผมว่า ก็พยายามทำตามที่หมอบอกแล้ว แต่ดูเหมือนลูกจะไม่อยากทำอะไรกับเราแล้ว ไม่อยากจะคุยอะไรกับเราอีกแล้ว มันคงจะสายเกินไปแล้ว
ผมก็ยังอยากจะให้กำลังใจกับทุกท่านนะครับว่า มาช้ายังไงก็ดีกว่าไม่มา
เพียงแต่ว่ามันอาจจะยากและต้องใช้ความพยายามมากหน่อย หากคุณปล่อยให้ลูกของคุณเหงามานานแสนนาน
เพราะอย่างไรท้ายที่สุดแล้วหากเลือกได้ลูกของคุณก็คงอยากที่จะอยู่กับคุณอย่างมีความสุขมากกว่าที่จะมาระบายความทุกข์ให้จิตแพทย์ฟังครับ
ขอบคุณ: หมอตั้ม เพจเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ