“ถึงแม้หลายคนอาจจะมองว่าผมมาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในการบริหารจัดการศูนย์กลางฯ นั้นผมมองข้ามจุดนี้ ผมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาที่มาจากนักการเมืองจากทุกพรรค เพื่อที่ เราจะร่วมมือผสานกันทุกฝ่ายในการทำให้มูลนิธิแห่งนี้เป็นองค์กรที่มุสลิมเชื่อมั่นศรัทธา” สามารถ กล่าว
ส่วนกรณีความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น โดยมุสลิมบางฝ่ายพยายามดึงศูนย์กลางอิสลามฯ เข้าไปสู่วังวนความขัดแย้งนั้น โดยเฉพาะความพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างสำนักคิด “ซุนนี-ชีอะห์” นั้น ซึ่งเพิ่งเป็นประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ สามารถ มะลูลีม กล่าวเตือนว่า ในการทำงานของบางฝ่ายซึ่งคงต้องเรียกว่าสุดโต่งก็ได้ อยากบอกว่า เราต้องคิดให้ได้ว่าสังคมของเราในอดีตที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร แล้วปัจจุบันนี่เป็นอย่างไร
“ถ้าเรามาคิดถาม เอาเรื่องความเชื่อของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเรียกว่าชีอะห์หรือซุนหนี่ก็ตาม ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยของเรามีจุฬาราชมนตรีที่เป็นชีอะห์ถึง 13 ท่านนับแต่อดีต จนมาเริ่มจากนายแช่ม พรมยงค์ ถึงท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีในปัจจุบันที่เป็นซุนหนี่ หรือแม้กระทั่งศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยแห่งนี้ คนที่เป็นประธานมูลนิธิคนแรกก็นับถือพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป คือ ร.อ.ฉัตร ศรียานนท์ ซึ่งเป็นน้องชายของท่านพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หรือผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอาจารย์ บาระกัต สยามวาลา เขาก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นชีอะห์” สามารถ กล่าวและว่า คนเหล่านี้คือคนก่อตั้งศูนย์กลางในรุ่นแรกๆ พราะฉะนั้นเราต้องคิดในกรอบว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนในชาติ ไม่ใช่ไปตัดสินคนนั้นคนนี้ ผมว่าไม่ได้หรอกครับ เพราะทุกอย่างอยู่ที่อัลเลาะห์ (ซบ.) เป็นผู้ตัดสิน ประชาชนอย่างพวกเราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินเอง
สามารถ กล่าวว่า เราต้องทำความดีไว้ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมไว้ ทำชื่อเสียงให้หมู่คณะ อันนี้ผมว่ามันสุดยอดในชีวิตของคนแล้วครับ ไม่ต้องดีเลิศประเสริฐศรี เราทำในสิ่งที่เป็นไปได้ ทำในสิ่งที่เรารู้ในสิ่งที่เราเห็น และเราทำได้สำหรับการจัดงานยิ่งใหญ่ใหญ่ “60 ปี ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สามารถ มะลูลีม กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ของศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศ ไทย ทางคณะกรรมการมูลนิธิจึงได้จัดงาน 60 ปี ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาในช่วงระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนนี้ ณ ศูนย์กลาง อิสลามแห่งประเทศไทย รามคำแหงซอย 2 คลองตัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 22.30 น.
“ในงานมีการแสดงสินค้าในรูปแบบ Street Art Market ที่ให้ผู้มาร่วมงานได้ช้อบปิ้งชม ชิม จากร้านอาหารชื่อดัง เสื้อผ้า เครื่องประดับ จากทั่วทุกมุมในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับมุสลิม และประวัติความเป็นมาของศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่คุณไม่เคยรู้ และภาพความประทับใจต่างๆ ที่คุณไม่เคยเห็น”
“ตอนนี้ได้ทำหนังสือเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งในอดีต เมื่อปี 2524 ที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านก็ได้ให้งบประมาณกับศูนย์กลางอิสลามฯ 17.9 ล้านบาท เราจะมีหนังสืออนุสรณ์ที่บอกเล่าประวัติต่างๆ เกี่ยวกับการก่อตั้งมุลนิธิฯ เพื่อจะได้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ดำเนินการมาอย่างไรจนมีศูนย์กลางอิสลามฯ ในวันนี้” สามารถกล่าว
สามารถกล่าวด้วยว่า สำหรับวันที่ 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา เราก็จะรวมใจของคนไทยในชาติ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ทั้งพุทธ คริสต์และทุกศาสนิก จัดกิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ “ส่วนวันที่ 3 เมษายน นั้นเราก็จะมีกิจกรรม “ปั่นเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ” (Bike for Anniversary โดยจะปั่นจักรยานจากศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยไปยังศูนย์กีฬาบึงหนองบอน ระยะทางไปกลับ 30 กม. ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ปั่นจักรยานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ” สามารถกล่าวงาน 60 ปีศูนย์กลางฯ เป็นใหญ่ที่ “สามารถ” จะพิสูจน์ฝีมือให้เห็นว่าทำให้งาน 60 ปี เป็นการรวมพี่น้องมุสลิมมากที่สุดครั้งหนึ่ง