นอกจากนั้น ยังมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางรายระบุว่า พวกเขาถูกบล็อกหลังเขียนคำอื่นๆ ที่รวมถึงคำที่ออกเสียงแบบเดียวกันในตัวอักษรพม่า
อ่อง กอง มัต ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ประสบปัญหาระบุว่า เขาไม่สามารถกดไลค์ โพส หรือแชร์เนื้อหาบนเฟซบุ๊กนาน 24 ชั่วโมงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน เนื่องจากเรื่องราวที่เขาเขียนเกี่ยวกับการห้ามของเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นกับเพื่อนหลายคนของเขา
“นี่มันตลกสิ้นดี ผมกลายเป็นเหยื่อซะเองเพราะเขียนเรื่องที่ว่าเฟซบุ๊กกำลังลบโพสที่มีคำว่าคาลาร์” อ่อง กอง มัต กล่าว
ยาซาร์ โซ-อู ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งกล่าวว่า เขาถูกห้ามใช้งานเมื่อวันศุกร์ (26) หลังโพสเรื่องตลกเกี่ยวกับการกินซุปถั่วอินเดีย (kalar pal hin) ขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ (kalar htaing)
เฟซบุ๊กไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่โฆษกรัฐบาลพม่ากล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้เรียกร้องให้มีการห้ามดังกล่าว
คาลาร์เป็นคำที่ใช้อ้างถึงชาวต่างชาติโดยทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักใช้อ้างถึงชาวอินเดียและอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชาวอินเดีย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำนี้กลับกลายเป็นถูกใช้ในความหมายที่ไม่ดีโดยกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมต่อต้านชาวมุสลิม
ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 2 คน ตอบโต้การห้ามใช้คำว่าคาลาร์บนเฟซบุ๊กด้วยการจัดงานในชื่อว่า “We own Kala” เพื่อเป็นการประท้วง โดยมีประชาชนราว 1,400 คน ระบุว่าสนใจจะเข้าร่วมงานดังกล่าวที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธ (31) ในนครย่างกุ้ง
ผู้จัดงานระบุว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นกับบรรดาบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่แชร์คำคำพูดสร้างความเกลียดชัง แต่กลับเกิดขึ้นกับคำที่พวกเขาใช้กันอยู่ทุกวัน
“เรามีคำของเราเอง ที่พวกเราใช้กันมาหลายสิบหลายร้อยปี” ผู้จัดงาน กล่าว
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังพยายามที่จะปราบปรามการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หลังการกระทำต่อต้านชาวมุสลิมของกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงได้เข้าปิดกิจกรรมทางศาสนา บังคับปิดโรงเรียนสอนศาสนา 2 แห่ง และในเดือนนี้ยังปะทะกับชาวมุสลิมหลังบุกเข้าไปในย่านชุมชนชาวมุสลิมที่กล่าวหาว่ามีชาวโรฮิงญาซ่อนตัวอยู่
cr:MGR