นับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ในแวดวงการเงินการธนาคาร เมื่อธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศตัวว่าเป็นธนาคารแรกที่เปิดบริการในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
กระทั่งในโลกโซเชียลส่งข้อความต่อกันมา และวิจารณ์กันว่า “สะเทือนวงการธนาคาร” ทั้งที่โดยแท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงการลดขนาดสาขาลงของธนาคาร ไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อ คล้ายกับการเช่าพื้นที่
และไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมงตามที่ร่ำลือกัน
สาขาต้นแบบในเซเว่นอีเลฟเว่น จะเปิดให้บริการในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาสีตบุตร 2 บริเวณถนนจรัสเมือง ตรงข้ามโรงเรียนสีตบุตรบำรุง ย่านหัวลำโพง ใช้ชื่อว่า สาขาย่อยสีตบุตร โดยเตรียมแถลงข่าวในเช้าวันนี้ (15 ธ.ค.)
รูปแบบของสาขาธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะเป็นตู้กระจกเล็กๆ คล้ายกับเคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Currency Exchange) โดยมีพนักงานนั่งอยู่ด้านในตู้กระจก
ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมเปิดบัญชี ฝากเงิน โอนเงิน สมัครบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต สมัครบัตรเครดิต ขอสินเชื่อบุคคล ขอสินเชื่อรถยนต์ แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โอนเงินระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สาขาย่อยสีตบุตร จะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.30 น. คล้ายกับเวลาทำการสาขาในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือพื้นที่เช่าต่างๆ ในชุมชนเมือง
โดยสรุปก็คือ ธนาคารไปเช่าพื้นที่สาขาภายในร้านสะดวกซื้อ โดยลดรูปแบบจากสาขาในห้างสรรพสินค้า ที่ใช้พื้นที่จำนวนมาก และค่าเช่ารายเดือนในราคาที่สูง
มาเป็นสาขาย่อยขนาดเล็กในร้านสะดวกซื้อ คล้ายบูธแลกเงินตามแหล่งท่องเที่ยวแทน
การเปิดสาขาขนาดเล็กนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทย ก็เคยเปิดสำนักงานย่อย บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 11 สถานี เพื่อให้บริการลูกค้าในช่วงหลังเวลาเลิกงาน
ให้บริการได้เหมือนสาขาปกติ อาทิ เปิดบัญชีออมทรัพย์ ทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล โดยจำกัดธุรกรรมเงินสด ไม่เกิน 200,000 บาทต่อครั้ง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ปิดสาขาไปแล้ว 32 สาขา จากเดิม 123 สาขา เมื่อเดือนมกราคม 2559 เหลือ 91 สาขา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559
หันมาเจาะกลุ่มลูกค้าและหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่ม เช่น ออกผลิตภัณฑ์บัญชี Beat Banking ร่วมกับค่ายมือถือเอไอเอส ที่สามารถเปิดบัญชีแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก และรับบัตรเดบิตได้ที่ AIS Shop โดยไม่ต้องไปธนาคาร
สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำรายได้ สาขาที่มีทำเลซ้ำซ้อนกัน และสาขาที่หมดสัญญาเช่าพื้นที่ เช่น ห้างค้าปลีก คอมมูนิตีมอลล์ ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
รองรับกระแสฟินเทค และระบบพร้อมเพย์ที่กำลังจะเข้ามาในปี 2560 แม้ต้นทางของระบบฟินเทคจำเป็นต้องมีธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมเงินสดก็ตาม
นับเป็นการปรับตัวที่แต่ละธนาคารพยายามหาทางออกเพื่อความอยู่รอด ถึงขั้นลดขนาดจากสาขาในห้างมาเป็นตู้กระจกเล็กๆ จนลูกค้าไม่ทันตั้งตัว
Cr.กิตตินันท์ นาคทอง