ซีละ ศิลปะการต่อสู้ด้วยกริช อัตลักษณ์มาลายู ปลายด้ามขวาน.

ซีละ, ดีกา หรือบือดีกา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของ #ชาวไทยมุสลิม แต่เดิมสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากชวาหรือคาบสมุทรมาลายูทางตอนใต้ ก่อนเข้ามาแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน
ซีละ เป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณซึ่งมีทั้งต่อสู้ด้วยมือเปล่า และใช้อาวุธประกอบการแสดงมีทั้งมีดดาบและกริช โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านมี ปี่ กลอง และฆ้อง เป็นตัวให้จังหวะการต่อสู้เป็นไปอย่างเร้าใจ ในสมัยโบราณการแสดงดังกล่าวเป็นศิลปะป้องกันตัวอย่างแแท้จริงของชาวมาลายู เช่นเดียวกับการชกมวยไทยหรือรำกระบี่กระบอง

ปัจจุบันการต่อสู้ด้วยกริชหาชมได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะเห็นแต่การต่อสู้ด้วยมือเปล่า เนื่องจากผู้แสดงต้องมีร่างกายแข็งแรง ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ก่อนออกแสดงโชว์ตามงานต่างๆ เพราะถ้าหากพลาดพลั้งหรือผิดจังหวะ จะทำให้ได้รับบาดเจ็บได้เพราะกริชที่นำมาใช้ประกอบการต่อสู้นั้นส่วนใหญ่เป็นของจริง


การต่อสู้กันด้วยกริช ก็เช่นเดียวกับการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ทุกครั้งเมื่อทำการแสดงจะต้องมีการทำความเคารพ หรือซาลามัสซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะเริ่มไหว้ครู โดยผลัดกันรำทีละคน เพื่อที่จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือโชว์พลังแบ่งกล้ามแขนขา ข่มขวัญคู่ต่อสู้ ก่อนจะเข้าห้ำหั่นกันตามวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา ผลัดกันรุกผลัดกับรับ ล้มลุกคลุกคลานกันทั้งสองฝ่ายขณะที่ดนตรีประกอบก็บรรเลงเพลงสอดรับตลอดการแข่งขัน สร้างความสนุกตื่นเต้น และหวาดเสียวแก่ผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่นิยมแสดงกันบนลานดินมากกว่าบนเวที การแสดงแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที


นอกจากชั้นเชิงการต่อสู้ตามที่ได้เล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ ที่ต้องสอดรับซึ่งกันและกันเพราะการใช้กริช หากพลาดจังหวะ คู่ต่อสู้ก็อาจได้รับอันตราย สิ่งสำคัญคือสปิริตของผู้แสดงทั้งคู่ เนื่องจากต้องมีการฟัดเหวี่ยงกันจนล้มลง จะไม่มีการซ้ำเติมใดๆทั้งสิ้น ลุกขึ้นมาแล้วสู้กันใหม่จนจบการแสดง หลังจบการต่อสู้ทั้งคู่จะต้องขออภัยซึ่งกันและกัน จากนั้นเข้ามาทำความเคารพผู้ใหญ่ภายในงานตลอดจนผู้ชมที่ให้กำลังใจอยู่รอบสนาม


การแสดงซีละดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานสืบสานวัฒนธรรมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ที่ชาวบ้านปูตะ ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่อย่างล้นหลาม เนื่องจากเป็นสิ่งที่หาชมได้ยากมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน


ภาพ จรูญ ทองนวล