เสียงจากคนชายแดนใต้ เมื่อถูกกฎหมายพิเศษโดยไม่ได้มีความผิด

เจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” (Presumption of innocence) อย่างแท้จริง โดยการควบคุมตัว ค้นบ้าน หรือปฏิบัติการใด ๆ ต้องอยู่บนฐานของพยานหลักฐานที่ชัดเจนไม่ใช่การเพียงสงสัยแล้วหว่านจับเพื่อปิดคดีตลอดจนยุติการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อการควบคุมตัวโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน’

นายกริยา มูซอ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย
[ONEPAT FARM – วันพัฒน์ฟาร์ม]ได้โพสต์เฟซบุ๊ค กรณีถูกหน่วยความมั่นคงควบคุมตัวว่า ขอชี้แจงจากข่าวเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา
ที่มีการปิดล้อมและจับกุมที่บริเวณฟาร์ม
โดยอ้างว่าสงสัย ต้องจับไปสอบสวนก่อน

ผมพยายามรวบรวมรวมและสื่อสารไปในทิศทางที่มีทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ให้มากที่สุด
หวังผลการทำงานในพื้นที่มีกฏหมายพิเศษ
ให้ลดแรงเสียดทานระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ไม่อนุญาตคอมเมนต์เชิงลบ hate speech ในช่องทางนี้ แต่สามารถแสดงความเห็นประสบการณ์ผลกระทบที่เคยได้รับ หรือใครมีข้อเสนออะไรจะเสนอร่วมด้วยช่วยกัน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของหลานชายผมเองครับ หลานชายทำงานประจำเป็นพนักงานผู้ช่วยแผนไทยรพ.บันนังสตาและเลี้ยงวัวแพะที่ฟาร์ม

ข้อเท็จจริง
วันที่11 เมษายน
เวลาก่อนละหมาดญุมอัต
หลานชายเข้าฟาร์มมาเปลี่ยนจุดให้หญ้าวัว
ซึ่งเป็นกิจวัตรปกติของเขา
ในขณะนั้น ทหารบินโดรนและเจอคน
อยู่บริเวณฟาร์มเลยตรึงกำลังปิดล้อมไว้
ได้ควบคุมตัวเขาภายใต้กฎอัยการศึก
ทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนเช้า
(ในขณะที่เจ้าตัวกำลังปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลตามปกติ มีพยานกล้องวงจรปิด การเข้างาน
ซึ่งทางเราได้โต้แย้งด้วยหลักฐานทั้งจากกล้องวงจรปิดในที่ทำงานและพยานบุคคลที่จะยืนยันที่อยู่ของเขา)

เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ก่อนญุมอัตจนหลังละหมาด
โดยมีผู้ช่วยกำนันมาช่วยเจรจาก่อน
จากนั้นผมรีบเข้าไปที่บริเวณฟาร์ม
เจรจาอยู่นาน ตั้งแต่ในบริเวณฟาร์ม
ไปที่ค่ายอส.ใกล้เคียง จนไปสภ.
และท้ายที่สุดจนต้องยอมให้เขาสู่กระบวนการที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องการคือยังไงก็ต้องจับกุมไปสอบสวนต่อที่วังพญา แม้จะยืนยันและโต้แย้งด้วยหลักฐานไปแล้ว…..


วันที่ 12 เมษายน
ครอบครัวติดตามการสอบสวนอย่างใกล้ชิด
นำหลักฐานที่มีทั้งหมด
หลักฐานวงจรปิดจากที่ทำงานยืนยันว่าในห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เขาอยู่ที่ทำงาน
ตลอดจนพยานบุคคลชัดเจนนะบุว่าเขาทำงาน
ต่อมามีคำสั่งยุติการสอบสวน
และถ้ามีข้อสงสัยใหม่ให้ติดตามภายหลัง
เนื่องด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์
กับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมสงสัยนั้นหักล้างกัน
และถูกปล่อยตัวกลับบ้านสู่อ้อมกอดครอบครัว…..
อัลฮัมดุลลิลละห์

สิ่งที่อยากให้เรียนรู้ร่วมกันกับบทเรียน
ความเจ็บปวดซ้ำๆเดิมที่มีมาตลอดในพื้นที่นี้จากกฏอัยการศึกที่ไม่รู้วันหมดอายุ

1.ความบริสุทธิ์ต้องพิสูจน์ตัวเองในกฏหมายที่เอื้อให้
“ใช้ข้อสงสัยแทนพยานหลักฐาน”

จากเหตุการณ์ควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง
แม้จะไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ “กฎหมายพิเศษ”

•พื้นที่พิเศษ กฎหมายพิเศษแต่ประชาชนไม่มีสิทธิพิเศษ”
ในพื้นที่ที่ถูกประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายความมั่นคง ประชาชนสามารถถูกควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และไม่ต้องแสดงพยานหลักฐานในเบื้องต้นนี่คือสิ่งที่เปลี่ยน [หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์] ให้กลายเป็น [ผู้ต้องสงสัยจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ผิด]

•ในช่วงเวลาที่ถูกจับกุมไปนั้น
ประชาชนต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
ในหลายกรณี ไม่ใช่ภาครัฐที่ต้องพิสูจน์ว่า“ประชาชนกระทำผิด” แต่กลับเป็นประชาชนเองที่ต้องดิ้นรนหาพยานหาหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด ซึ่งการต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองนี้ทำให้พวกเขาต้องเสียเวลา เสียโอกาสทางอาชีพ สูญเสียพลังใจ และถูกทำให้รู้สึกว่า“ความบริสุทธิ์คือสิ่งที่ต้องแลกมา” ไม่ใช่สิ่งที่ควรได้รับแต่ต้น
และที่เจ็บปวดยิ่งกว่า คือในกรณีของประชาชนทั่วไปที่ไม่มีทรัพยากร ไม่มีพยาน ไม่มีหลักฐาน
เช่น กล้องวงจรปิดหรือเอกสารที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ได้หลายคนจึงถูกตีตราว่าผิดตั้งแต่ต้น
และบางรายสุดท้ายก็จำต้องยอมรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบแม้จะไม่ได้ทำผิดจริงก็ตามบางคนติดคุกโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่เพราะกระทำผิดแต่เพราะไม่มีอำนาจพอจะปกป้องตัวเองจากกระบวนการที่ไม่ให้โอกาส

ขอสุ่มตัวอย่าง
เสียงสะท้อนจากประชาชนผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันจากคอมเมนต์หนึ่ง


“น้องของฉันก็เคยโดน ทั้งที่ไม่มีความผิด”
น้องเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา
พูดภาษาไทยไม่คล่อง
ไม่มีช่องทางจะสื่อสารหรืออธิบายตัวเอง
ไม่มีโอกาสปกป้องสิทธิของตัวเองเลย

“ก๊ะเข้าใจเลยสามีถูกจับกุมไปนานหลายปี ดิ้นรนจนได้ออกมา ตอนนี้เป็นโรคทางจิตเวชรักษายังไม่หายไม่มีใครรับผิดชอบกับสิ่งนี้เลย”

เสียงของประชาชนในพื้นที่บางส่วน
สะท้อนภาพของระบบที่ไม่เปิดช่องให้พวกเขาได้ปกป้องตัวเอง ทั้งด้านภาษา กฎหมาย หรือการเข้าถึงที่ปรึกษา เมื่อไม่มีพยานบุคคลหรือพยานวัตถุที่ชัดเจน พวกเขาจึงต้องแบกรับข้อกล่าวหาและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองภายใต้แรงกดดันมหาศาล
แม้บางรายท้ายที่สุดจะถูกปล่อยตัว แต่ชื่อเสียงและโอกาสในชีวิตได้ถูกทำลายไปแล้วอย่างไม่มีใครรับผิดชอบ

อยากให้สังคมเข้าใจว่า
การสนับสนุนให้ “จับก่อนเค้นสอบสวนทีหลัง”นั้น ขัดกับหลักความเป็นมนุษย์ ผิดจากหลักความยุติธรรมและไม่ใช่การจัดการความสงบในพื้นที่อย่างแท้จริง แต่มันคือความเสี่ยงที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องแบกรับ เป็นช่องโหว่ที่ให้เจ้าหน้าที่บางส่วน ดำเนินการโดยไม่ต้องรับผิดหรือไม่ต้องตรวจสอบใด ๆ แม้การกระทำนั้นจะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน แต่กลับสามารถเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะระบบเปิดโอกาสให้ “ข้อสงสัย” ถูกใช้แทน “หลักฐาน”

ยิ่งปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป
ความไว้ใจระหว่างรัฐกับประชาชน… จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

•อีกทั้งวิธีการหว่านจับและควบคุมตัวไว้ก่อนค่อยหาหลักฐานทีหลัง มันสะท้อนความบกพร่องของกระบวนการสืบสวน ไม่ใช่ความเข้มแข็งของมาตรการความมั่นคง การสันนิษฐานโทษล่วงหน้าโดยไม่มีพยานหรือหลักฐานใดรองรับ รั้งแต่จะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและเปิดโอกาสให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่แม่นยำ ไม่ยุติธรรมของระบบ

2.เพจ IO และการตัดสินก่อนกระบวนการยุติธรรม

บ่อยครั้งเมื่อเกิดการควบคุมตัว
ภาพของผู้ถูกควบคุมก็มักถูกเผยแพร่ผ่านเพจหรือช่องทางที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการ IO อย่างรวดเร็วข้อความที่บิดเบือนและปล่อยข่าวก่อนการสอบสวน
เช่น “ผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงกลุ่มก่อความไม่สงบ” หรือ “เครือข่ายแนวร่วม” ทั้งที่ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ
มันคือการตัดสินประชาชนล่วงหน้า
ทำให้เกิดการ “ลงโทษทางสังคม” แม้ยังไม่มีการดำเนินคดี และเมื่อความจริงปรากฏ ก็ไม่มีการลบข่าวหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

ยกตัวอย่าง
คอมเมนต์หนึ่งที่พบบ่อยมากในเพจ IO

“ไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร”

คำพูดที่ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยอคติและความไม่เข้าใจนี้คือเครื่องมือที่ทำให้ระบบกดทับสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเงียบงัน คนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มักไม่เข้าใจว่ากระบวนการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรมสามารถ “บิดเบือนความจริง” และ “บีบให้รับสารภาพ” ได้ง่ายเพียงใด คำสารภาพในบางพื้นที่จึงไม่ใช่ “คำยอมรับผิด”แต่เป็น“ทางรอดจากการทรมานหรือกดดัน”

และอีกคอมเมนต์ที่น่าสนใจ
“เจ้าหน้าที่คงไม่ได้ปิดล้อมตรวจค้นหรือควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลหรอก”

“คงมีข้อมูลลับบางอย่างที่เราไม่รู้”

● อะไรคือ “เหตุผล” ถ้าไม่มีหลักฐานรองรับ?
คำว่า #มีเหตุผล ที่ถูกใช้ปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นควรถูกทบทวนว่า เหตุผลใดกันแน่ ที่เพียงพอจะใช้ในการ พรากอิสรภาพของประชาชน

-ถ้าเป็นเพียง “ข้อมูลลับ” โดยไม่มีการตรวจสอบไขว้?
(ตรวจสอบไขว้cross-check/cross-validation
คือการตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง หรือหลายมุมมอง เพื่อยืนยันว่าข้อมูลนั้นถูกต้องและเป็นจริงไม่ใช่แค่เชื่อจากแหล่งเดียว)

-ถ้าเป็นเพียง “ข้อสงสัย” ที่ไม่ได้ผ่านกลไกกระบวนการยุติธรรม?
-ถ้าเป็นเพียง “สถานที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ”?

สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเรียกว่าเหตุผลชอบธรรมได้เลย
หากปราศจากพยานหลักฐานที่ตรวจสอบได้การปล่อยให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจโดยไม่มีความรับผิดก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนและช่องว่างนี้เองที่ทำให้ความไม่ไว้วางใจพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

•อยากให้ความสนใจจุดนี้มากๆว่า
กระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมต้องไม่เดินคู่กับการบิดเบือนข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่ปัญหาของการจับกุมโดยไม่มีหลักฐานแต่คือการ “ร่วมมือกันของอำนาจ” ที่กระทำการซ้ำเติมผ่าน IO ทำให้คนที่ยังไม่ถูกตัดสินกลายเป็น “ผู้กระทำผิดในสายตาสาธารณะ” ไปโดยปริยายสิ่งนี้คือการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงและขัดต่อหลักนิติธรรมในสังคมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ผมขอใช้พื้นที่สื่อสารนี้
ในนามของประชาชนในพื้นที่
ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมาตรการด้านความมั่นคงมาอย่างยาวนานเพื่อสื่อสารถึงเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจในการจัดการนโยบายความมั่นคงด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์และจริงใจ เรารับรู้ได้ว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐและประชาชน
แต่ในขณะเดียวกัน
เราก็เป็นประชาชนที่สมควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงถูกปฏิบัติเสมือนผู้ต้องสงสัยโดยอัตโนมัติหรือถูกนำตัวไปสอบสวนโดยไม่มีช่องทางในการปกป้องตัวเอง

ผมขอเรียกร้องอย่างสุจริตใจว่า

1.เจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” (Presumption of innocence) อย่างแท้จริง โดยการควบคุมตัว ค้นบ้าน หรือปฏิบัติการใด ๆ ต้องอยู่บนฐานของพยานหลักฐานที่ชัดเจนไม่ใช่การเพียงสงสัยแล้วหว่านจับเพื่อปิดคดี
ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อการควบคุมตัวโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน ทุกกรณีต้องมีการสืบสวนโดยอิงกับพยานวัตถุหรือพยานบุคคล

2.ต้องมีกลไกในการเยียวยาผู้ที่ถูกกระทำผิดพลาด
ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การควบคุมตัวโดยไม่มีหลักฐาน สุดท้ายสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้หรือการเสียโอกาสจากการถูกกล่าวหา

3.ตรวจสอบและเปิดเผยการดำเนินงานของเพจ IO ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญกับการใส่ร้ายและถูกตัดสินโดยสังคมก่อนถึงกระบวนการยุติธรรม

4.ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวทางด้านความมั่นคงร่วมกับรัฐ
เพราะไม่มีใครเข้าใจความต้องการของพื้นที่ดีไปกว่าคนในพื้นที่เองและเพื่อสร้างความไว้วางใจและยุติการใช้กำลังแทนการฟังเสียงประชาชน

การส่งสารนี้
ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องครอบครัวของผม
แต่เพื่อครอบครัวอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่ไม่เคยได้รับโอกาสให้พูดหรือแม้แต่ปกป้องความบริสุทธิ์ของตนเอง

ด้วยความเคารพ
ด้วยความจริงใจจากประชาชนในพื้นที่
และด้วยความหวังต่อสันติภาพที่แท้จริง
นาย กริยา มูซอ
ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย
[ONEPAT FARM – วันพัฒน์ฟาร์ม]

ต่อมานายซากีร์ พิทักษ์คุมพล อดีตส.ว. และลูกชายอดีตจุฬาราชมนตรี ได้แชร์โพสต์ พร้อมข้อความระบุว่า ภูมิใจในตัวอาลีครับ เราเคยปะทะทางความคิดกันในช่วงเวลาที่เราทำชมรมสันติศึกษาใน มอ. หาดใหญ่ หลังจบการศึกษา เขาเลือกจะทำฟาร์ม แต่เป็นฟาร์มที่ยึดโยงกับอาหารสุขภาพ go green และมาตุภูมิ หวังจะให้พื้นที่ฟื้นฟูอาชีพเกษตรที่ปลอดสารเคมี โดยมีเขาเป็นตัวอย่างให้กับวัยรุ่นและเกษตรกรในพื้นที่ และวันนี้เขาออกมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของคนในพื้นที่อีกครั้ง ข้อเขียนนี้ยาว เรียบเรียงเหตุการณ์ได้ดี แต่ถ้าท่านสละเวลาอ่านสักนิด ท่านจะเข้าใจสถานการณ์ของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าใจถึงปัญหาของกฎหมายพิเศษจากมุมมองของประชาชน เราคงไม่ปฎิเสธว่ากฎหมายพิเศษมันอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ แต่หลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้อำนาจจากกฎหมายพิเศษเกินความพอดีจนสร้างปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ ปัญหาที่น่าจะแก้ไขง่ายกลับเป็นเรื่องยุ่งยากไปหมด เชิญอ่านและพิเคราะห์กันตามสะดวกคีับ