สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ เริ่มเห็นชัดถึงปรากฏการณ์ “ชิงเหลี่ยมเฉือนคม” ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในรัฐบาล ที่เดินเกมรุกใส่กันอย่างไม่ลดละ ไม่ต่างจากการซ้อมรบก่อนการเปลี่ยนฉากใหญ่หลังสงกรานต์ ที่หลายฝ่ายประเมินว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในระดับ “ตัวละครหลัก” หรือ “บทบาทในรัฐบาล”
แม้ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) จะย้ำหลายครั้งว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังพร้อมกอดคอเดินหน้าร่วมบริหารประเทศให้จนครบเทอม แต่ด้วยปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้ง “ศึกใน” และ “ศึกนอก” ย่อมทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะใน “มิติเศรษฐกิจ” ที่กลายเป็นจุดเปราะบางของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ต้นเรื่องความชัดเจนและเป้าหมาย จนถึงวันนี้เพิ่งเดินหน้าได้เพียงเฟส 2 ขณะที่เฟส 3 สำหรับกลุ่มเยาวชนอายุ 16-20 ปี ก็ยังอยู่ในขั้นตอนรอเปิดตัวช่วงปลายไตรมาส 2 หรือเร็วสุดในเดือน พ.ค. 2568
ในขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือ “กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ที่ “พรรคเพื่อไทย” หวังใช้เป็นหมากเศรษฐกิจตัวใหม่ ทำให้เกิดรอยร้าวในรัฐบาล สะดุดตั้งแต่ต้นทาง หลังเจอแรงต้านทั้งจากในสภาและนอกสภา จนต้องเลื่อนการพิจารณาวาระแรก จากวันที่ 9 เม.ย. ออกไปเป็นสมัยประชุมหน้า หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า (สภาเปิด 3 ก.ค. 68)
ยิ่งไปกว่านั้น กระแสต้านจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย (ภท.)” ที่ “ลูกเนวิน” ไชยชนก ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรค ลุกขึ้นประกาศกลางสภาว่า “ไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน” ยิ่งทำให้รอยร้าวในรัฐบาลยิ่งชัด แม้ “อาหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค จะรีบออกมาแก้เกมว่าเป็น “เรื่องผิดคิว” ไม่ใช่มติพรรค แต่ก็สะท้อนภาพเกมอำนาจที่กำลังไหลเชี่ยวอยู่ภายใน
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมี “วาระร้อน” ทางการเมืองที่พร้อมลุกโชน ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่ “เพื่อไทย” ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หวังประวิงเวลา และกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ซึ่งคาดว่าศึกนี้จะเดือดไม่แพ้ครั้งไหนๆ
ความเคลื่อนไหวทั้งหมด ย่อมต้องส่งตรงถึง “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ผู้กำกับบทเบื้องหลังของพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อกันว่าไม่มีทางยอมให้ภาพลักษณ์และเกมการเมืองของตัวเองต้องเสียเหลี่ยม
ขณะเดียวกัน กระแสข่าว “ปรับ ครม.” หลังสงกรานต์ ก็เริ่มแรงขึ้น โดยเฉพาะกรณีของ “2 พิชัย” ได้แก่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง กับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ที่ถูก ส.ส.พรรคเดียวกันวิจารณ์อย่างหนัก จนเข้าข่าย “เรดโซน” เสี่ยงหลุดเก้าอี้สูงมาก
ในระหว่างนี้จึงต้องจับตาว่า จะมี “นายแบงก์ดัง” คนใด ที่ “ทักษิณ” เคยทาบทามมาหลายรอบแต่ยังปฏิเสธ จะกลับมาในฐานะขุนคลังหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะขอแค่ “อยู่เบื้องหลัง” แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจเปลี่ยนเกมทั้งหมด
นอกจากนั้น ในส่วนของ พรรคภูมิใจไทย ต้องจับตาว่า จะยังได้อยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปหรือไม่? หรือ “ได้อยู่ต่อ” แต่อาจจะต้องมีการแลกสลับกระทรวงดูแลกันเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะทาง “พรรคเพื่อไทย” เอง ก็อยากได้ “กระทรวงมหาดไทย” มาไว้ในการดูแล
โดยกระทรวงหลักที่ “ภูมิใจไทย” ดูแลอยู่ ทาง “เพื่อไทย” อาจแลกกับ กระทรวงสาธารณสุข – คมนาคม – ท่องเที่ยว
จากปัจจุบันที่พรรคภูมิใจไทย ดูแล กระทรวงมหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ/รมว.) กระทรวงแรงงาน (พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.) กระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศุภมาส อิศรภักดี รมว.)
สำหรับในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ก็อาจมีการ “ปรับ ครม.” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละกระทรวงที่อยู่ในการดูแล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง (พิชัย ชุณหวชิร รมว.) , กระทรวงพาณิชณ์ (พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.) , กระทรวงดีอีเอส (ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.) , กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (สรวงศ์ เทียนทอง รมว.) , กระทรวงต่างประเทศ (มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.)
หรือแม้แต่ ในส่วนของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่อาจมีการปรับ ครม. เพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ปัจจุบันพรรค รทสช. คุม กระทรวงพลังงาน (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.) และ กระทรวงอุตสาหกรรม (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.)
ขณะเดียวกัน ก็อาจมีการปรับแลกกระทรวงระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคชาติไทยพัฒนา โดยอาจโยก วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมฯ ไปนั่งกระทรวงการต่างประเทศ ที่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ นั่งเป็น รมว. อยู่ในปัจจุบัน
เดือนเมษายนอาจไม่ได้ร้อนแค่แสงแดด แต่ “การเมือง” ก็ร้อนตามไปด้วย ที่พร้อมสั่นคลอนขั้วในรัฐบาล และอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อจัดวางอำนาจใหม่ทั้งกระดาน !!!