กษัตริย์ไฟศ็อล แห่งซาอุฯ ผู้นำที่กล้ายืนหยัดเหนือบ่อน้ำมัน และไม่วางปัญหาปาเลสไตน์ไว้เบื้องหลัง

วันที่ 25 มีนาคม ปีนี้ (2568) ครบรอบห้าสิบปีของการลอบสังหารกษัตริย์ไฟศ็อล บิน อับดุลอะซีซ อาลิซะอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียหลายคนอาจรู้จักพระองค์ในฐานะผู้นำผู้กล้าประกาศหยุดส่งออกน้ำมันใส่สหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจจำพระองค์ได้จากประโยคที่ว่า “ปาเลสไตน์สำคัญกว่าน้ำมัน”
แต่ในความเป็นจริง พระองค์คือหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกมุสลิมยุคศตวรรษที่ยี่สิบ
ชายคนหนึ่งที่เคยใช้ทั้งเศรษฐกิจ ศาสนา และการทูต เพื่อต่อรองกับจักรวรรดิ
ไฟศ็อลประสูติในกรุงริยาด ปีค.ศ. 1906 ในขณะที่พระบิดา กษัตริย์อับดุลอะซีซ กำลังรวมอาณาจักร
เด็กหนุ่มผู้นี้เติบโตมาในสมรภูมิทางทหาร และการทูตระหว่างประเทศ
อายุเพียง 14 ปี ก็เดินทางไปลอนดอนในฐานะตัวแทนของพระบิดา
ท่ามกลางเหล่าทูตของจักรวรรดิอังกฤษ เขาเรียนรู้เรื่องอำนาจ
และซึมซับความรู้สึกของชนชาติที่ต้องเจรจาภายใต้ร่มธงของผู้ล่าอาณานิคม
ประสบการณ์นั้น ไม่เคยหายไปจากความคิดของไฟศ็อล
ในทางการเมือง เขาไม่เคยไว้ใจจักรวรรดินิยม
ในทางศาสนา เขาเชื่อว่าอิสลามคือรากเหง้าของเอกภาพ
และในทางยุทธศาสตร์ เขามองเห็นว่า น้ำมันไม่ควรเป็นแค่สินค้า แต่มันคือตัวแปรของโลก
การขึ้นสู่อำนาจของไฟศ็อลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
พระองค์ต้องโค่นพระเชษฐาต่างมารดา คือกษัตริย์ซาอูด
ผู้ซึ่งบริหารราชอาณาจักรอย่างไร้ประสิทธิภาพ
ด้วยเสียงสนับสนุนจากราชวงศ์ และนักวิชาการศาสนา
ไฟศ็อลขึ้นครองราชย์ในปี 1964
พร้อมแนวทางที่ชัดเจนสองประการ
1 พัฒนาประเทศให้ทันสมัยอย่างไม่ทิ้งราก
2 ยกระดับเอกภาพอิสลามให้กลายเป็นพลังของประชาคมมุสลิม
ไฟศ็อลเปิดโรงเรียนสตรีแห่งแรก
โดยมีสมเด็จพระราชินีอิฟฟัตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
เริ่มวางระบบธนาคาร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
และใช้รายได้น้ำมันสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่
ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากพวกอนุรักษนิยมในประเทศ
พระองค์ยังคงยึดมั่นในการเปลี่ยนผ่าน
แต่ไม่เคยยอมให้ใครหักด้ามเรืออิสลามทิ้ง

สำหรับไฟศ็อล ปาเลสไตน์ไม่ใช่แค่ประเด็นของดินแดน
แต่คือสัญลักษณ์ของการกดขี่ ความอยุติธรรม
และความล้มเหลวของระบบโลก
พระองค์คัดค้านแผนแบ่งแยกปาเลสไตน์มาตั้งแต่ต้น
กล่าวอย่างเปิดเผยว่า
“ชาวปาเลสไตน์ต้องได้กลับบ้าน
แม้ต้องแลกด้วยชีวิตของชาวอาหรับทุกคน”
และในปี 1969 หลังเหตุเพลิงไหม้มัสญิดอัลอักศอ
ไฟศ็อลได้ริเริ่มก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม OIC
องค์กรที่ต่อมากลายเป็นเวทีรวมพลังประเทศมุสลิม
เพื่อปกป้องสิทธิของปาเลสไตน์
และท้าทายอิทธิพลของโลกตะวันตกในภูมิภาค
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้โลกตะวันตกสะเทือนที่สุด
คือการที่ไฟศ็อลประกาศคว่ำบาตรน้ำมันในปี 1973
เมื่ออเมริกาและพันธมิตรเข้าข้างอิสราเอลในสงครามเดือนตุลาคม
ไฟศ็อลไม่ลังเลที่จะปิดก๊อกน้ำมันใส่ตะวันตก
ราคาน้ำมันพุ่งสูง วิกฤตพลังงานปะทุ
และโลกต้องหันมาฟังเสียงจากประเทศ
ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงชาวทะเลทรายที่ขายน้ำมันดิบ
มันคือจุดเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์
ในยุคที่ผู้นำส่วนใหญ่หวั่นเกรงต่อสายตาจากวอชิงตัน
ไฟศ็อลใช้ทรัพยากรของประเทศเป็นอาวุธเพื่อความยุติธรรม
แม้รู้ดีว่าวันหนึ่งมันอาจจะย้อนกลับมาทิ่มแทงตนเอง
เช้าวันที่ 25 มีนาคม ปี 1975 ไฟศ็อลถูกลอบปลงพระชนม์
“โดยหลานชายของพระองค์เอง”
กระสุนที่ยิงทะลุพระเศียร ไม่ได้แค่พรากชีวิตผู้นำ
แต่มันสั่นสะเทือนหัวใจของโลกมุสลิม
ที่กำลังมองหาความกล้าในยุคที่คำว่าอธิปไตยเริ่มมีราคาต่อรอง
แม้ทางการจะประกาศว่าการลอบสังหารนั้นเกิดจากเหตุจูงใจส่วนตัว
แต่ความสงสัยก็ยังคงอยู่เสมอ
ว่าผู้นำที่กล้าท้าทายมหาอำนาจเช่นนั้น
อาจไม่ได้มีศัตรูแค่ภายใน
หลังการจากไป พระองค์ได้รับการสดุดีจากนานาประเทศ
-มัสญิดไฟศ็อล ในกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน หนึ่งในมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้รับทุนสร้างจากซาอุดีอาระเบีย และตั้งชื่อเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพอิสลาม
-เมือง ไฟศ็อลาบาด (เดิมชื่อ ลยัลปุร์) ในปากีสถาน ที่เปลี่ยนชื่อเพื่อสดุดีบทบาทของไฟศ็อลต่อโลกมุสลิม และความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับปากีสถาน
ยังคงยืนเป็นอนุสรณ์ของผู้นำที่ไม่กลัวจะเผชิญหน้า
กับกระแสในโลกที่น้ำมันยังคงเป็นตัวแปรของอำนาจ
และปาเลสไตน์ยังคงรอการปลดแอก
ชื่อของไฟศ็อลก็ยังถูกเอ่ยถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ไม่ใช่เพราะพระองค์สมบูรณ์แบบ
แต่เพราะพระองค์กล้าที่จะไม่เหมือนใคร
ห้าสิบปีผ่านไป โลกมุสลิมมีน้ำมันมากขึ้น
แต่น้ำเสียงแบบไฟศ็อลกลับเบาลงทุกวัน
แล้วเราจะรออีกนานแค่ไหน
กว่าจะได้ยินผู้นำที่กล้ายืนหยัดเหนือบ่อน้ำมันอีกครั้ง

บทความโดย