เป็นคำถามใหญ่ที่มีการพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายได้เพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลังจากสหรัฐส่งหนังสือกดดันอิหร่านให้ต้องมาทำข้อตกลงนิวเคลียร์กันใหม่ ทว่าอิหร่านปฏิเสธไม่ขอเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซี ทรัมป์ได้ประกาศกร้าวว่า จะดำเนินการทิ้งระเบิด (รวมถึงเล่นงานผ่านมาตรการภาษี) หากรัฐบาลอิหร่านไม่ยอมทำข้อตกลงกับสหรัฐในเรื่องโครงการนิวเคลียร์
ล่าสุดมีรายงานว่าสหรัฐสั่งย้ายเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 จำนวน 6 ลำไปยังฐานทัพร่วมสหรัฐ-อังกฤษบนเกาะดิเอโกการ์เซียในมหาสมุทรอินเดีย แม้สหรัฐฯอ้างว่าจะใช้เพื่อโจมตีกลุ่มฮูษี (Houthi) ในเยเมน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่อธิบายว่าการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบล่องหนชนิดนี้มันเกินความจำเป็นและเป้าหมายที่เป็นกลุ่มฮธษีก็ไม่ได้ฝังอยู่ลึกขนาดนั้น
คำถามคือ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 จะถูกเตรียมไว้เพื่อทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน? เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่โลกกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด สื่อบางแห่งถึงกับคาดการว่าการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐและอิหร่านอาจเป็นไปได้สูงในช่วง 2 เดือนนี้
ในบทความนี้ผมเองคงไม่อธิบายรากเหง้าปัญหาขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศนี้ในรายละเอียด เพราะเชื่อว่าพวกเราคงจะหาอ่านได้ไม่ยาก แต่บทความนี้จะให้น้ำหนักไปที่การถกเถียงเรื่องความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งผมเชื่อว่ามันคงไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น โดยดูจากปัจจัยแวดล้อม 3 ด้านสำคัญ ดังนี้
หากดูจากการสำรวจทัศนคติของ Pew Research ประชาชนคนอเมริกันมากกว่าครึ่งไม่ต้องการเห็นสหรัฐฯเข้าไปทำสงครามครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง (คือการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านอย่างไรเสียก็ต้องนำไปสู่สงครามไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง)
ทั้งนี้ ประสบการณ์จากสงครามอิรักยังคงหลอกหลอนประชาชนคนอเมริกัน อันเป็นสงครามที่ทำให้สหรัฐเสียเงินงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก กระทบกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และนำพาทหารสหรัฐฯไปตายเป็นจำนวนไม่น้อย ความเสียหายยังคงเกิดขึ้นจวบจนทุกวันนี้
ความทรงจำอันข่มขืนนี้ยังคงเป็นสัญญาณเตือนไม่ให้ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯบุ่มบ่ามกระโจนเข้าไปสู่สงครามในตะวันออกกลางง่าย ๆ
อีกทั้งการตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านยังเป็นเรื่องที่สหรัฐฯไม่ได้ฉันทานุมัติจากประชาคมโลก แม้แต่พันธมิตรของตนเองในยุโรปและตะวันออกกลางก็คงไม่เอาด้วย
นอกจากนี้ การเข้าสู่การเผชิญหน้ากับอิหร่านยังอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียสมาธิในการทำงานตามเป้าหมายทางยุทธศาสตร์หลักของตนเอง นั่นคือการแข่งขันกับจีนและรัสเซีย
อย่าลืมว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งจีนและรัสเซียเข้ามาแทรกซึมขยายอำนาจในตะวันออกกลางได้ในระยะหลังเป็นเพราะสหรัฐฯ ต้องติดหล่มอยู่ในสงครามอิรักอย่างยาวนานหลายปี
ต้องยอมรับว่าตะวันออกกลางเป้นภูมิภาคที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กันอย่างซับซ้อนจนนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงในหลายมิติ ดังนั้น การเกิดสงครามอิหร่าน-สหรัฐฯอาจเป็นตัวจุดประกายให้ปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ ปะทุขึ้นมาใหม่กลายเป็นระลอกคลื่นแห่งความไม่สงบ
แต่ที่แน่ ๆ คือเรื่องนี้จะทำให้เกิดกระแสโต้กลับจากทั้งอิหร่านและพันธมิตร พุ่งเป้าไปที่ฐานทัพอเมริกันที่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในตะวันออกกลาง ผลประโยชน์ของอเมริกันและอิสราเอลในตะวันออกกลางจะกระทบหนัก แม้แต่พลเรือนอเมริกันจะตกเป็นเป้า จนกลายเป็นเรื่องกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลทรัมป์ในสหรัฐฯเอง
ยิ่งกว่านั้น การพุ่งเป้าโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านยังจะเป็นตัวเร่งให้อิหร่านต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์โดยการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้มีความบริสุทธิ์สูงเกินกว่าจะใช้สำหรับโครงการพลังงานปรมาณูเพื่อพลเรือน ซึ่งหากอิหร่านประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อีกประเทศก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “balance of Terror” ในตะวันออกกลาง
นิตยสาร Forbes รายงานว่าหากเกิดการเผชิญหน้าทางการทหารกับอิหร่าน ค่าใช้จ่ายของสหรัฐฯ (แม้จะเป็นสงครามที่มีขอบเขตจำกัด) อาจสูงถึง 6 หมื่นล้านถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสามเดือนแรก ตัวเลขนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับสหรัฐที่กำลังเผชิญปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ต้องอย่าลืมว่าอิหร่านก็เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ความขัดแย้งทางการทหารใดๆ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย
อีกทั้งอิหร่านยังเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเหนือช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของประเทศที่ส่งออกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย
ดังนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันโลก มิพักต้องพูดถึงปฏิบัติการของฮูษีเหนือทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญของโลกเส้นทางหนึ่งเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ได้อธิบายมาคงสะท้อนให้เห็นในระดับหนึ่งว่า สหรัฐฯคงไม่ตัดสินใจเปิดศึกกับอิหร่านง่าย ๆ เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางบางประการ หรือการประเมินสถานการณ์ตะวันออกกลางแบบไม่มีข้อมูลความรู้และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาของรัฐบาลทรัมป์
บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย