ตุดทำไมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยไม่ควรไปเยรูซาเล็มตะวันออก
ดร.ศราวุฒิ อารีย ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ ให้ความเห็น กรณีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปที่กำแพงร้องไห้ในเยรูซาเล็มตะวันออกว่า การเดินทางไปปฏิบัติราชการของคณะผู้แทนไทยในประเทศอิสราเอลโดยมีภารกิจหลักเพื่อไปรับแรงงานไทย 5 คนที่ถูกปล่อยตัวออกมาล่าสุดนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเข้าไปเยือนเยรูซาเล็มตะวันออกในนามของรัฐบาลไทยนั้นต้องพิจารณาให้รอบครอบ ไม่ใช่นึกอยากไปหรือได้รับรับเชิญไปก็ไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหวที่ซ้อนอยู่ในนั้น
ประเด็นอ่อนไหวที่ว่ามีอยู่ 2-3 ประเด็นที่อยากเอามาแลกเปลี่ยนครับ
ความอ่อนไหวในเชิงสถานะของเยรูซาเล็มตะวันออก
เยรูซาเล็มเป็นเมืองโบราณที่ถือเป็นหนึ่งในแก่นกลางของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครับ อิสราเอลมองเยรูซาเล็มว่าเป็น “เมืองหลวงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่อาจแบ่งแยกได้” ของตน
ไม่นานหลังรัฐอิสราเอลถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1948 และได้รับชัยชนะเหนือบรรดารัฐอาหรับในสงครามครั้งแรก อิสราเอลก็ได้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นทางตะวันตกของเมืองเยรูซาเล็ม จากนั้นหลังจากที่อิสราเอลทำสงคราม 6 วันใน ค.ศ. 1967 กับเพื่อนบ้านอาหรับ อิสราเอลก็ได้ยึดเยรูซาเล็มตะวันออก รวมถึงเขตเมืองเก่าด้วย โดยได้ผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน อันถือเป็นการกระทำที่นานาชาติไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ผู้นำอิสราเอลก็มักจะแสดงความไม่พอใจที่ไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเล็ม แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดกับอิสราเอลเอง
ชาวปาเลสไตน์เห็นต่างอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องการเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง และถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติที่นานาชาติสนับสนุนมายาวนาน หรือรู้จักกันในชื่อ “การแก้ปัญหาแบบให้มี 2 รัฐอยู่เคียงคู่กัน” (Two States Solution) โดยพื้นฐานแล้วก็คือแนวความคิดให้ก่อตั้งรัฐอิสระปาเลสไตน์ติดกับอิสราเอล ตามพรมแดนที่ปรากฏก่อน ค.ศ. 1967 ซึ่งมีการเขียนแนวทางแก้ปัญหาอย่างนี้เอาไว้ในมติสหประชาชาติ
ชาวปาเลสไตน์ถือเป็นประชากรจำนวนไม่น้อย คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในเยรูซาเล็ม คนเหล่านี้มาจากครอบครัวที่อยู่ที่นี่มานานนับพันปี ความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่ออิสราเอลมีนโยบายขยายการตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้ามาในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลไม่ยอมรับ
นอกจากจะไม่ยอมรับแล้ว อิสราเอลยังได้ผ่านกฎหมายในสภาเนตเซท (Knesset) เมื่อ ค.ศ. 1980 ให้มีการผนวกดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของตน
อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไป ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ แต่เมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจึงเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ให้การยอมรับว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล พร้อมย้ายสถานทูตสหรัฐฯจาก เทล อะวีฟ เข้ามาตั้งอยู่ในเยรูซาเล็มเมื่อ ค.ศ. 2019 นี้เอง
ด้วยสถานะเยรูซาเล็มที่เป็นประเด็นขัดแย้งเช่นนี้ ทำไมเราจึงเลือกที่จะไปเยือนที่นั่นอันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองในเชิงสัญลักษณ์ว่าไทยเห็นดีเห็นงามกับการที่เยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
ความอ่อนไหวในเชิงความเชื่อความศรัทธา
เยรูซาเล็ม (มุสลิมเรียกว่า อัล-กุดส์) ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญทั้งด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ของโลกตลอดมา อันเป็นบ่อเกิดของสันติภาพและความขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ในมิติความขัดแย้งนั้น ประเด็นหลักมักวนเวียนอยู่ที่ข้อถกเถียงว่า ศาสนาใดใกล้ชิดเกี่ยวพันกับดินแดนเยรูซาเล็มมากกว่ากัน จนเป็นที่มาของการอ้างสิทธิครอบครองเมืองนี้ของแต่ละฝ่าย กลายเป็นความขัดแย้งเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลเรื่อยมา
ขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต่างให้การยอมรับความสำคัญของศาสนายูดาห์และคริสเตียน ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับนครเยรูซาเล็ม แต่ก็ย้ำว่าสถานที่แห่งนี้ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน และเยรูซาเล็มมิได้มีความผูกพันทางจิตวิญญาณต่อชาวปาเลสไตน์หรือชาวอาหรับเท่านั้น แต่ดินแดนแห่งนี้คือศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย
เพราะนอกจากมัสยิดฮารอมในนครมักกะฮ์และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว มัสยิดอัล-อักซอในเยรูซาเล็ม ยังถือเป็นมัสยิดที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับ 3 ของศาสนาอิสลาม
อีกทั้งอัล-อักซอยังเป็น “กิบลัต” แรกในประวัติศาสตร์อิสลาม หรือชุมทิศแรกที่มุสลิมหันหน้าไปยามละหมาดและขอพรต่อพระเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว มัสยิดอัล-อักซอยังเป็นศาสนสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามอันเนื่องมาจากมัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ศาสดามุฮัมมัด ได้ละหมาดก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องสูงในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “อิสรออ์และมิอ์รอจญ์”
แต่สำหรับชาวยิวแล้ว พื้นที่แห่งนี้คือที่ตั้งของ The Temple Mount หรือพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสร้างโดยศาสดาโซโลมอน หรือที่มุสลิมรู้จักในนามศาสดาสุไลมาน (ปกครองระหว่าง 971-931 ก่อนคริสต์ศักราช)
ทว่าพระวิหารยุคแรกนี้ก็ถูกทำลายโดยพวกบาบิโลนเมื่อ 587 ก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นก็มีการสร้างมหาวิหารยุคที่ 2 ขึ้นโดยกษัตริย์ไซรัสมหาราชและดาไรอุส
อีก 500 ปีต่อมาพระวิหารที่ 2 (Second Temple) ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยกษัตริย์แฮรอดมหาราช จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระวิหารแฮรอด” แต่สุดท้ายพระวิหารแห่งใหม่นี้ก็ถูกทำลายโดยพวกโรมันใน ค.ศ.70 เหลือแต่ซากกำแพงเก่าที่ไม่ได้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นที่มาของ “กำแพงร้องไห้” ที่อยู่ทางตะวันตก หรือ “Western Wall”
นับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้นับถือศาสนายูดาห์นิกายออร์โธด็อกซ์ ก็ตั้งหน้ารอคอยการสร้างพระวิหารยุคที่ 3 ในเยรูซาเล็ม พร้อมกับการรอคอยการปรากฏตัวของเมสไซยาห์ของชาวยิว (Jewish Messianism) ก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าจะทำลายโลก
ปัญหาก็คือ ตามความเชื่อของชาวยิวกลุ่มนี้ หากจะฟื้นฟูมหาวิหารยุคที่ 3 ขึ้นมาจริงๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รื้อถอนมัสยิดอัล-อักซอและโดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock) ของชาวมุสลิมเสียก่อน เพราะมัสยิดเหล่านี้ก่อสร้างอยู่บนเนินเขาที่ชาวยิวเชื่อว่าเป็น “The Temple Mount”
ในสภาวะอ่อนไหวเชิงความเชื่อความศรัทธาเช่นนี้ทำไมเราจึงต้องไปเยือนที่นั่น อันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าไทยอาจเห็นดีเห็นงามกับการทำลายมัสยิดเพื่อประกอบสร้างวิหารยิวขึ้นมาใหม่
จุดยืนของไทยต่อประเด็นอ่อนไหวนี้
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2017 ไทยเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศที่ลงคะแนนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนร่างมติเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเพิกถอนการรับรองนครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่หนุนร่างมตินี้ก็ตาม
ร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ 9 ประเทศออกเสียงคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง
คำถามคือการเยือนเยรูซาเล็มครั้งนี้ในนามรัฐบาลไทยอาจถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของไทยต่อสถานะกรุงเยรูซาเล็มที่ไทยเคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ในมติสหประชาชาติหรือไม่ มิตรประเทศในโลกมุสลิมจะมองเราอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังสงครามกาซ่าอันโหดร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไป(และอาจปะทุขึ้นมาอีกระลอกใหม่)
ฝากไว้ให้คิดครับ
ท้ายนี้ขอเรียนย้ำว่าการเดินทางเยือนเมืองเก่าเยรูซาเล็มสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นเป็นเรื่องปรกติไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจในประเด็นความอ่อนไหว เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงครับ ที่ดีที่สุดคืออย่าได้เข้าไปจะดีกว่า