สับ กกต.กลางวงเสวนาจัดเลือกตั้ง อบจ.68 ล้มเหลวนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิพากย์การบริหารงานท้องถิ่นอำนาจสั่งการยังรวมศูนย์อยู่มหาดไทย “นิพนธ์”กังวลปัญหาซื้อเสียง นายหัวไทรชี้คนลงคะแนนเลือกตั้งอบจ.68 น้อยกว่าปกติ เพราะกกต.กำหนดวันเลือกตั้งผิดพลาด
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.68 ที่ห้อง SB 0301 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จัดเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ “เลือกตั้ง: อบจ.68 สะท้อนอะไร ? โดยวิทยากรร่วมเสวนาอาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อดีตส.ส.นครศรีฯ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรรคเพื่อไทย และนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสสายการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคมลัมน์”นายหัวไทร” ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 100 คน
นายเฉลียว คงตุก เปิดวงเสวนาด้วยข้อกังวลกับการเลือกตั้ง อบจ.หลายประเด็น เช่น บ้านใหญ่ส่งผู้สมัครไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน การเมืองใหญ่เข้าไปครอบงำการเมืองท้องถิ่น ทำให้ท้องขาดอิสระ การใช้เงินซื้อเสียงมโหฬาร แต่ กกต.ไม่รู้ไม่เห็น การจัดเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก กกต.อ่อนด้อยในการประชาสัมพันธ์ เหล่านี้คือเหตุผลทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย โหวดโต บัตรเสีย
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทยและอดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้การจะทำให้ประเทศเข้มแข็งจะต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มในยุคพลเอกเปรม ติณนสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หลังมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและในปี 2528 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถือเป็นการกระจายอำนาจแรก ในขณะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.นั้นเป็นตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด
“ตอนนั้นผู้ว่าฯสวมหมวกสองใบ คือเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ. หมวกหนึ่งเป็นตัวแทนราชการส่วนกลาง อีกหมวกเป็นส่วนท้องถิ่น นายอำเภอก็เป็นนายกสุขาภิบาล ต่อมารัฐธรรมนูญปี40 เริ่มเห็นบทบาทการกกระจายอำนาจอย่างจริงจัง โดยเขียนไว้ว่า ให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เริ่มจากการนายกอบจ.ที่เลือกมาจากสจ. นายกเทศบาลก็เหมือนกันเลือกมาจากสท. แล้วต่อมาก็มาเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เริ่มเลือกตั้งครั้งแรกปี44 จนถึงวันนี้ ทำให้เลือกตั้งท้องถิ่นเข้มข้นมากขึ้น”
นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า แต่ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองไม่ค่อยเข้าไปยุ่งมาก เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีผู้สมัครนายกอบจ.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นในนามพรรคการเมืองก็จะมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยในการช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมะสมลงสมัคร หรือหากบริหารงานเกิดความผิดพลาดพรรคการเมืองก็ต้งอรับผิดชอบ แต่หากสมัครนามอิสระไม่มีใครกรองให้ประชาชน เมื่อเกิดการบริหารราชการความผิดพลาดเสียหายขึ้นมา ตัวเองผ่านพ้นไปใครจะรับผิดชอบ
“เมื่อผมมาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในปีกกระจายอำนาจ มีกระแสไม่เห็นด้วยเหมือนกันในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แต่สรุปเราเห็นแนวทางนี้แล้วว่าการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น ผมเชื่อตรรกะนี้ว่าถ้าท้องถิ่นเข้มแข้ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง”อดีตรมช.มหาดไทยกล่าวย้ำ
ขณะที่ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์และอดีตส.ส.นครศรีฯ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในทุกระดับทั้งนายกอบจ. นายกเทศบาล นายกอบต. หากแต่การบริหารราขการแผ่นดินในท้องถิ่นท้องที่ยังไม่มีความอิสระยังเป็นการบริหารราขการแบบรวมศูนย์ โดยนายกอบจ.ไม่มีโอกาสจัดทำโครงการฯทำโปรเจกต์ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ที่สำคัญท้องถิ่นก็ไม่ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล แต่ขับเคลื่อนด้วยกระทรวงมหาดไทย ทำให้การบริหารงานท้งอถิ่นผิดฝาผิดฝั่งไป
“วันนี้ท้องถิ่นไม่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลแต่ขับเคลื่อนด้วยมหาดไทย พอเกิดปัญหาท้องถิ่นทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถจัดการปัญหาสาธารณะได้ มังคุดราคาตก ชาวบ้านเคยพาไปเททิ้งหน้าอบจ. อบต.ไม๊ ก็ไปเททิ้งหน้าศาลากลาง มันสะท้อนถึงรัฐบาลรวมศูนย์ ท้องถิ่นยังทำอะไรไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนจึงไปเลือกตั้งอบจ.คราวนี้น้อยกว่าปกติ เพราะเลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ เข้าไปก็ทำอะไรไม่ไดมาก” รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน
ด้าน นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรรคเพื่อไทยกล่าวว่าในการเลือกตั้งอบจ.68 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริบทบางครั้งนโยบายของพรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในระดับพื้นที่เหมือนกัน อย่างบางพรรคการเมืองไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครในนามพรรค หรืออาจมีทัศนคติก็ได้ที่ว่าในเรื่องของท้องถิ่นพรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปสนับสนุน ควรอยู่ในระดับชาตินโยบายของประเทศเท่านั้น เพราะคำว่าท้องถิ่นหมายความว่าให้คนในพื้นที่ ให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการเลือกผู้นำของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหาร นั่นคือนิยามสมบูรณ์ดีที่สุดในแง่การปกครองการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นนำเอานโยบายบางส่าวนบางตอนของพรรคการเมืองใดไปใช้เป็น ก็แล้วแต่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เห็นว่ามีความเหมะสมในสภาพพื้นที่และบริบทของสังคม
จ
“กกตไม่ใช่มีแค่หน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จเท่านั้น แต่หลักการจะต้องสะท้อนการลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งด้วย เราจะได้รู้ว่าใครเป็นคนดีที่สุดเหมาะบริหารในท้องที่ในท้องถิ่นระดับชาติมากที่สุด ไม่เช่นนั้น คนที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรม ไม่เคยมีประวัติทุจริตคตโกงก็ไม่ได้เป็นตัวแทน บางทีคนที่เลวร้ายที่สุดก็ยังได้รับการเลือก เพราะมีหลายบริบทที่รวมอยู่ในคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง”อดีตโฆษกพรรรคเพื่อไทยกล่าว
ส่วนนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสเชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคมลัมน์”นายหัวไทร”กล่าวว่า การเลือกตั้งอบจ.คราวนี้มันสะท้อนอะไรบ้างสิ่งที่ยังอยากพูดถึงในวันนี้ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งปกติจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทุกองค์กร ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน ยกเว้นเกษตรกรที่ไม่มีวันหยุด แต่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวันเสาร์ ซึ่งบริษัท ห้างร้าน โรงงาน หรือบริษัทเอชกนยังเปิดทำงานกันตามปกติ ทำให้การเลือกตั้งอบจ.ในหลายจังหวัดครั้งนี้มีการลงคะแนนเลือกตั้งน้อยเป็นประวัติการณ์
“ผมคิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เลือกตั้งวันเสาร์ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของประชาชนคนส่วนใหญ่จะสะดวกเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่วันทำงาน ผมเองให้ทีมงานไปถามเลขากกต.ทำไมจัดการเลือกตั้งวันเสาร์แล้วที่ประชุมสภาเองก็ได้มีการเชิญกกต.ไปชี้แจง ซึ่งเลขากกต.ชี้แจงว่าการที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์ เพราะถ้าขยับไปอีกวันเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.เกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่แล้วเสร็จตามกฎหมายที่กำหนดจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45วัน อันที่จริงกกต.น่าจะร่นลงมาสักอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ทางกกต.เกรงว่าผู้สมัครจะมีเวลาหาเสียงน้อย พบปะประชาชนไม่ทั่วถึง ผมไม่เชื่อในตรรกะนี้”เจ้าของคอลัมน์”นายหัวไทรกล่าวทิ้งท้าย
สรุปภาพรวมวงเสวนามีน่าสนใจ พอจะประมวลจากการสะท้อนของวิทยากร ที่ทำให้มีบัตรเสียจำนวนมาก บัตรโหวตโนเยอะ คนใช้สิทธิ์น้อย เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ
ประการแรก ข่าวหน้าหูเรื่องการใช้เงินมโหฬารในการจ่ายจ่ายกับการเลือกตั้ง (ซื้อเสียง) อันจะนำไปสู่การถอนทุนในอนาคต (ทุจริต) ทำให้คนเบื่อการเมือง ชัดขึ้นกับคำว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” วิทยากรส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าเขาเอาเงินมาให้ก็รับไว้ แต่การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เดินเข้าสู่คูหาไม่มีใครรู้ว่าเราเลือกใคร เหตุฆาตกรรมจากการเบี้ยวกันทางการเมือง เริ่มหายไปราว 1 ทศวรรตแล้ว
ประการต่อมา การที่นักการเมืองบ้านใหญ่เข้าไปจัดการ บงการส่งผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงเลือกที่จะโหวตโน เพราะผู้สมัครยังไม่โดนใจพอ
ร
ประการต่อมา คือที่พรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ผิดหลักการกระจายอำนาจ แม้วิทยากรบางคนจะเห็นแย้งว่า เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยกับผลของการกระทำ
ประการที่สี่ ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการจัดเลือกตั้งว่าจะเป็นไปด้วยความบรุสุทธิ์ เที่ยงธรรม เพราะเห็นมามากแล้ว ประชาชนรู้กันทุกหย่อมหญ้าว่ามีการซื้อเสียง แต่ กกต.หน่วยงานจัดการเลือกตั้งกลับไม่รู้ไม่เห็น ทำให้ประชาชนหมดหวังกับองค์อิสระอย่าง กกต. จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยจับทุจริตการเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง รอให้คนนำหลักฐานไปร้องเรียนถึงจะดำเนินการสอบสวน ไม่มีการสืบด้วยตัวเอง กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ทำงานไม่ได้ผล
ประการที่ห้า การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก ทั้งๆที่เป็นวันทำงาน ผู้มีสิทธิ์บางคนไม่สามารถละจากงานเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ทำให้ยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั่งน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.อ้างว่า ถ้าจัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ จะหมิ่นเหม่ถ้ามีเหตุฉุนเฉินจะจัดการเลือกตั่งไม่แล้วเสร็จในกรอบ 45 วัน จริงๆ กกต.ร่นมาอีกอาทิตย์หนึ่งก็ยังได้ แต่ กกต.กลับกลัวว่า จะมีเวลาให้หาเสียงน้อย ซึ่งเป็นตรรกะที่จะรับฟังได้
ประการที่หก การไม่จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับผู้ที่มีภารกิจ ไม่สามารถมาลงคะแนนเสียงได้ในวันเสาร์ทำให้เขาต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการ จะถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จะลงสมัครอะไรก็ไม่ได้ไประยะหนึ่ง
นี้คือประเด็นหลักๆที่มีการพูดคุยกันในวงเสวนา “เลือกตั้ง อบจ.68 สะท้อนอะไร” ก็สะท้อนให้เห็นปัญหามากมายที่จะต้องปรับแก้กันต่อไปในอนาคต
#นายหัวไทร
#ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน
#เลือกตั้งอบจ