KKP ชี้ 5 กลุ่มเสี่ยงเป้านโยบายภาษีทรัมป์ และธุรกิจที่ต้องเตรียมรับแรงกระแทก การกลับมาของ Trump ทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม
หลังพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีในการออกคำสั่งหลายอย่างที่ครอบคลุมประเด็นเรื่อง การเนรเทศคนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย การปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การเปิดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการสำรวจน้ำมันและก๊าซ การลดกฎระเบียบ และการหยุดการเผยแพร่กฎระเบียบใหม่ ๆ โดยหน่วยงานรัฐ และการระงับการจ้างพนักงานของรัฐบาลกลาง
แต่หนึ่งในคำสั่งที่ประกาศออกมาและเกี่ยวข้องกับไทยมากที่สุดคือ การออกบันทึกการค้า (Trade memorandum) ซึ่งในเบื้องต้นสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางศึกษาและประเมินสาเหตุการขาดดุลการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายค่าเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณานโยบายตอบโต้ โดยเฉพาะกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก
ประเด็นที่อาจจะเข้าข่าย ในกรณีของประเทศไทยคือเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในระดับสูงรวมไปถึงมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ไทยจะเป็นประเทศที่ถูกติดตามโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในสหรัฐฯ
ในระยะข้างหน้า นโยบายที่ทุกคนจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งมีโอกาสจะสร้างความวุ่นวายต่อเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายของประเทศอื่น ๆ ในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตีแผ่ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยในแวดวงสาธารณะไปบ้างบางส่วน หลังจากเคยเผชิญเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ 8 ปีที่แล้วแบบไม่ทันตั้งตัว
แต่ในครั้งนี้ KKP Research มองว่านโยบายการค้าของทรัมป์อาจไม่ใช่แค่สงครามการค้าเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนทศวรรษที่แล้ว และบางทีการเตรียมรับมือแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป นอกจากนี้ ผลกระทบที่คาดต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมทีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สหรัฐฯ อาจบีบให้ไทยเปิดตลาดให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นซึ่งอาจเพิ่มการแข่งขันและมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆอีกด้วย
“สงครามการค้า” เป็นเครื่องมือต่อรอง
KKP Research มองว่าจุดประสงค์หลักในการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ในท้ายที่สุดอาจไม่ใช่เพื่อสร้างสงครามการค้า แต่เป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ สามารถใช้ในการเจรจาและสร้างการค้าที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ มากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ต้องการการเติบโตของกระแสโลกาภิวัฒน์และการค้าโลกเสรีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม กระแสโลกภิวัฒน์ได้สร้างต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มหาศาล กล่าวคือการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน รวมทั้งสร้างความไม่สมดุลในดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่กุล่มประเทศหลักอื่นๆ กลับเกินดุลและแรงงานในสหรัฐจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิต และการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ และมีระบบภาษี การอุดหนุน และการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาที่สหรัฐมองว่าไม่เป็นธรรม และไม่มีกลไกในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการค้า นี่คือที่มาของกระแสตีกลับในสหรัฐฯ ต่อการค้าแบบเสรีและต้องการการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นและรวมไปถึงการดึงภาคการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้คือจุดยืนหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เจรจาการค้าที่เป็นธรรมคือการใช้ภาษีนำเข้า ในการต่อรองกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นผู้อพยพ ยาเสพติด ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ และประเด็นการค้าและธุรกิจอื่นๆ
โดย KKP Research มองว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐฯ จะหันมาเพ่งเล็งมากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ มี 5 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1) บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศและส่งสินค้ากลับไปขายผู้บริโภคในสหรัฐฯ
2) สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น
3) ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขนาดสูง ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม (และอาจจะรวมถึงไทยด้วย)
4) สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม เพื่อพยายามหลบหลีกภาษีนำเข้า
5) ประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืออื่น ๆ
แม้ว่าเครื่องมืออย่างภาษีนำเข้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าเรื้อรังได้ทั้งหมด แต่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าจะใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันประเทศหรือบริษัทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นอาทิ การลดมาตรการกีดกันสินค้าจากสหรัฐฯ การยกเลิกหรือลดการให้ผลประโยชน์กับบริษัทสัญชาติอเมริกาเพื่อดึงดูดการลงทุนและใช้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออก หรือการกดดันให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ หากต้องการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ
แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถผลิตสินค้าทุกอย่างเองได้ทั้งหมด แต่หากนโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและสามารถลดมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ได้ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ
ไทยจะตกเป็น “เป้า” ของสหรัฐฯ หรือไม่
ในกรณีของไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษีแต่ในมุมมอง KKP research มองว่ามีหลายประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐฯ คือ
1. การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของอาเซียน– ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดเกินดุลมากที่สุดคิดเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ทั้งหมด แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดแต่หากสหรัฐฯ มองไทยและประเทศอื่น ในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ พร้อมกันทั้งหมดได้ โดยสินค้าของไทยที่มีการเกินดุลในระดับสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้อาจถูกยกขึ้นมาเป็นเป้าหมายของภาษีนำเข้าและเป็นเป้าหมายในการเจรจาหากสหรัฐฯ ต้องการที่จะเล่นงานการเกินดุลการค้าของไทย
2. สินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ – สินค้ากลุ่มที่สองที่อาจตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ คือสินค้าที่จีนใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018 ดุลการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ พร้อมกับการขาดดุลกับจีนที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า กิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในไทยส่วนหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน แม้ว่าจะประเมินได้ยากว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่เข้าข่ายและกิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่ารวมเท่าไหร่ แต่สินค้าอย่างแผงโซล่าเซลล์ โมเด็ม/เราเตอร์ หรือหม้อแปลงไฟฟ้า อาจเข้าข่ายสินค้าจีนใช้ตลาดไทยเป็นทางผ่านในการส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น โดยข้อมูลจาก ITC Trade map แสดงให้เห็นว่าปริมาณการนำเข้าแผงโซล่าจากจีนสะสมต้องแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ทราบเป็นอย่างดีและเพิ่มมาตรการกีดกันสินค้าเหล่านี้จนกว่าแนวโน้มการส่งออกจะลดลง สหรัฐฯ อาจถึงขั้นกำหนดว่าประเทศที่เข้าข่ายเป็นทางผ่านจะต้องพิสูจน์มูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากจีนและนั่นอาจทำให้กระบวนการทางการค้าในอนาคตมีความยุ่งยากและต้นทุนมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทย
3. มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ – ประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงไว้หลายครั้งคือ นโยบาย Reciprocal Trade Act กล่าวคือหากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้าเหล่านั้น นี่คือหนึ่งในหลักการสำคัญของการค้าที่เป็นธรรมในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาคิดภาษีนำเข้าบนสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐคิดกับประเทศเหล่านั้น ในกรณีของประเทศไทย สินค้า
หลักที่ไทยคิดภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยานพาหนะสำหรับการคมนาคม เป็นต้น โดย KKP Research มองว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว เพราะหากดูสัดส่วนการนำเข้าของไทยจะพบว่าไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่สหรัฐฯ ส่งออกให้โลก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะส่วนต่างของภาษีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงว่าไทยมีการใช้มาตรการปกป้องผู้บริโภคไทยจากสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรมและใช้เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีกับสินค้าไทยได้
ผลกระทบสุดท้ายขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจา
การประเมินผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์รวมไปถึงแนวทางผลลัพธ์ของการเจรจาหากเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม KKP Research มองว่าผลกระทบที่เป็นไปได้ต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามดังนี้
· สินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐ ฯในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของไทยที่ช่วยให้มูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตและสนับสนุนดุลการค้าของไทยในปี 2024 แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าบนสินค้านำเข้าทั้งหมดรวมถึงสินค้าไทยด้วยอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ อาทิเช่น ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น
· สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มหดตัวในระยะข้างเนื่องจากนโยบายสหรัฐฯ ที่จะเพ่งเล็งสินค้านี้เป็นพิเศษรวมไปถึงการที่บริษัทจีนอาจเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากไทยมากขึ้นจากความกังวลเรื่องภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มนี้เกิดขึ้นแล้วในการส่งออก แผงโซล่าเซลล์ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2024 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกในหมวดแผงโซล่าเซลล์และอื่น ๆ ปรับตัวลดลงกว่า 80% ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะดำรงตำแหน่งด้วยซ้ำ สาเหตุหลักคาดว่าเป็นเพราะบริษัทจีนเริ่มย้ายฐานการส่งออกออกจากไทยและย้ายไปตั้งฐานการส่งออกที่ลาวและอินโดนีเซียมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าทีสูงขึ้น ประเด็นนี้สะท้อนว่าการลงทุน FDI จากจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ อาจลดลงหรือย้ายออกจากไทยหากสหรัฐฯ เล่นงานประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเรื่อง China +1 ในช่วงที่ผ่านมา
· ไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ไทยอาจต้องเลือกระหว่างลดภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันอื่นในกลุ่มสินค้าอื่นๆ (เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร) เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ หรือสินค้าส่งออกไทยอาจเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะมีจำกัดในกรณีที่สหรัฐฯ ยังมองข้ามประเทศเล็กแบบไทยแต่หากสหรัฐฯ เพ่งเล็งมาที่ไทย สินค้าเกษตรจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญโดยเฉพาะเมื่อไทยยังคงมาตรการกีดกันสินค้าเกษตรที่มาจากสหรัฐฯ และหนึ่งในวิธีที่สหรัฐฯ อาจยอมลดภาษีนำเข้ากับไทยคือไทยอาจต้องยอมเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อไก่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ยกขึ้นมาในการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ CPTPP
ในปัจจุบันหากไม่มีภาษีนำเข้า ราคาหมูที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยยังสูงกว่าราคาในประเทศแต่ในระยะข้างหน้ามีโอกาสที่ราคาหมูในสหรัฐฯ จะลดลงต่ำกว่าราคาในประเทศไทยได้หากผู้ผลิตในสหรัฐฯ สามารถลดต้นทุนเฉลี่ยหลังขยายกำลังการผลิต ส่วนราคาน่องไก่ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันต่ำกว่าราคาในประเทศไปแล้ว ประเด็นนี้สะท้อนว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยที่หากเปิดตลาดแล้วสินค้าเกษตรนำเข้าจะเพิ่มขึ้นและกดดันราคาผู้ผลิตภายในประเทศ
จีนคืออีกด้านของเหรียญที่มองข้ามไม่ได้
นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้เพียงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจีนจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยด้วยเช่นกัน ยิ่งสหรัฐฯ กดดันจีนมากเท่าไหร่ผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า จีนอาจยิ่งตอบโต้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและสนับสนุนให้ธุรกิจหาตลาดส่งออกอื่น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน เพื่อแทนที่ตลาดสหรัฐฯ และยิ่งจีนกำลังดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายผ่านการลดดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ยิ่งทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนถูกลงไปอีก
ทั้งหมดนี้อาจทำให้สถานการณ์สินค้าจีนทะลักในไทยไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและยิ่งทำให้ภาคการผลิตจีนเข้ามาแทนที่ภาคการผลิตไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรกังวลถึงผลกระทบที่มาจากฝั่งของจีนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยเปิดเสรีการค้ากับจีนค่อนข้างมากในขณะที่ยังมีการกีดกันการค้าบางส่วนกับสหรัฐฯ ซึ่งถ้าพิจารณาสินค้านำเข้าจากจีนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างอาเซียน-จีน 10 อันดับแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่กำลังมีปัญหาการถูกตีตลาด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
เหล็กประเภทต่าง ๆ ผลไม้อย่างองุ่น นอกจากนี้ อัตราการใช้สิทธิจากข้อตกลงทางการค้าของจีนยังต่ำกว่าข้อตกลงอื่น ๆ อยู่ ทำให้มีแนวโน้มที่จีนอาจใช้ช่องทางดังกล่าว หากสหรัฐฯ มีมาตรการที่รุนแรงกว่าที่คาด
แนะไทยเตรียมกรอบเจรจาให้พร้อม
ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกคนคงคาดหวังให้ไทยไม่ตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐ ฯ ในประเด็นทางการค้าซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือเตรียมแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น สหรัฐฯ น่าจะต้องการอะไรจากไทย และมีสิ่งใดที่ไทยจะสามารถนำเสนอต่อสหรัฐฯ และผลกระทบในแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน
บทเรียนสำคัญในทุกการเจรจาข้อตกลงการค้าคือทุกข้อตกลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์อยู่ กรอบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และจีนควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยไทยในหลายมิติทั้ง ผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ การจ้างงาน และผลต่อผู้บริโภคซึ่งแต่ละกลุ่มอาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้แตกต่างจากสงครามการค้ารอบแรกในปี 2018 อย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจจีนที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อนจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกและไทยจากประเด็นการตีตลาดของสินค้าจีนจำนวนมากและทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนที่อาจไม่กลับมาโตได้ดีเท่าเดิม สถานะที่อ่อนแอลงทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพด้านต่างประเทศทำให้ในวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมา สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อดุลการค้าที่ไทยอาจไม่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ ได้มากเท่าในอดีตอีกต่อไป
—————————————————————————–
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com (อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://media.kkpfg.com/document/2025/Jan/KKP%20Research_Impact-from-trump-policy-to-thai-economy.pdf)