ประธานกอจ.สุราษฎร์ฯเข้าเยี่ยมกอจ.สตูล จับมือร่วมกันทำงาน เปิดสถิติ กอจ.สตูล มีรายได้หลักจากการนิกะห์ชาวมาเลเซีย ปีละกว่า 3 ล้านบาท แต่ยังเป็นรองกอจ.สงขลามาก
ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยนายธงชัย ปิติเศรษฐ ประธานคณะกรรมการฯ และกลุ่มสตรีจากสุราษฎร์ธานี ได้เข้ายี่ยมการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล โดยมีนายยำอาด ลิงาลาห์ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล และคณะกรรมการฯให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปการงานของกอจ. สตูล
จังหวัดสตูล มีมุสลิมประมาณ 222,000 คน คิดเป็นกว่า 70% ของประชากรในพื้นที่ มีมัสยิด 142 แห่ง ที่ได้รับการจดทะเบียนถูดต้องตามกฎหมาย เป็นจังหวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) การทำงานส่วนนึ่งเป็นการสนับสนุนงานของศอ.บต. โดยผู้นำศาสนาจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ปัญหาในพื้นที่ บรรดาอิหม่าม และกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จึงได้รับค่าตอบแทนเพิ่มจากจากศอ.บต. นอกเหนิอจากที่ได้รับเบี้ยนจากกระทรวงมหาดไทย
‘ภารกิจหลักของกอจ.สตูล คือ เจรจาการไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว ปัญหาการแบ่งมรดก เป็นต้น ซึ่งทางยุติธรรมจังหวัดจะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่สำนักงาน และสำนักงานฯจะจัดกรรมการอิสลามฯทำหน้าที่แก้ปัญหาทุกวัน การไกล่เกลี่ยของกอจ. จะต้อผ่านอิหม่ามประจำมัสยิด และหากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ก็จะส่งไปยังศาล ให้ดาโต๊ะยุติธรรมตัดสิน’ ประธานกอจ.สตูล กล่าว
การแต่งงานของมุสลิมในพื้นที่จังหวัดสตูล ฝ่ายชายจะต้องลงนามในสัญญา 6 ข้อ เพื่อเป็นหลักประกันให้ฝ่ายหญิง อาทิ การไม่ให้ความเป็นธรรมกับภรรยา ไม่เลี้ยงดู ติดยาเสพติด หรือติดคุกเป็นต้น หากฝ่ายมีพฤติกรรมขัดกับข้อตกลงฝ่ายหญิงสามารถฟ้องหย่าได้
จังหวัดสตูล ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มาเลเซียให้การรับรองการนิกะห์ของคนมาเลเซีย เช่นเดียวกับ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จึงมีชาวมาเลเซีย เดินทางมานิกะห์ ที่สตูล รองไปจากจังหวัดสงขลา โดยมีชาวมาเลเซีย เดินทางมานิกะห์ ประมาณเดือนละ 100 คู่ คิดค่าบริการคู่ละ 3,000 บาท มีรายได้ปีละประมาณ 3.6 ล้านบาท เฉพาะเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2567) มีชาวมาเลเซียเดินทางมาแต่งงาน จำนวน 128 คู่ ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียด้วยกัน มีส่วนน้อยที เป็นชายมาเลเซียกับหญิงไทย ส่วนหญิงมาเลเซียกับชายไทย แทบไม่มีเลย เพราะรสนิยมหญิงมาเลเซียไม่ชอบชายไทย
จังหวัดสตูล มีระบบการศึกษาอิสลาม ตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่เรียกตาดีกา จนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยกอจ.สตูล ได้ออกแบบหลักสูตรเอง ผ่านการรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อจบแล้ว สามารถไปเรียนต่อทั้งสายสามัญและสายศาสนาได้

สำหรับสำนักงานของกอจ. ได้ก่อสร้างมาตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อน โดยกอจ.ระดมทุนก่อสร้างเอง ทุนเบื้องต้นได้รับงบประมาณ ส.ส. (สมัยยังมีงบส.ส.) จำนวน 4 ล้านบาท จากนายธานินทร์ ใจสมุทร และเพื่อนส.ส. เมื่อครั้งเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ และได้จากการจัดงานประจำปี
