[ พระเยซู (นบีอีซา) และพระแม่มารีย์ (พระนางมัรยัม) ในศาสนาคริสต์ ✝️ และอิสลาม ☪️ ]
.
“วันคริสต์มาส 🎄 คือวันสำคัญทางศาสนาของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ เป็นวันระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู พระบุตรของพระเจ้าที่ทรงบังเกิดมาเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่รู้หรือไม่ว่าในคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลามก็มีเรื่องการกำเนิดของนบีอีซา (เยซู ในสำเนียงภาษาอาหรับ) เหมือนกัน แต่มีการเล่าเรื่องคนละแบบ ในศาสนาอิสลามนั้น พระนางมัรยัม (มารีย์ ในสำเนียงภาษาอาหรับ) คลอดนบีอีซาเพียงลำพังกลางทะเลทราย และมุสลิมก็ไม่ได้จัดงานใด ๆ เพื่อระลึกถึงการกำเนิดของท่านเหมือนอย่างที่ชาวคริสต์ฉลองกันในวันที่ ๒๕ ธันวาคมของทุกปี แต่มูลเหตุการเกิดของ “พระเยซู” ในศาสนาคริสต์ และ “นบีอีซา” ในศาสนาอิสลามก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่บ้าง เพราะทั้งสองศาสนา รวมถึงศาสนายูดาห์ มีที่มาและรากเดียวกันเรียกรวมกันว่า “ศาสนาอับราฮัม”
.
ใน “คัมภีร์ไบเบิล” พระเจ้าทรงเลือกพระนางมารีย์ให้เป็นมารดาของพระผู้ไถ่ ทรงบันดาลให้พระนางตั้งครรภ์โดยปราศจากมลทินจากชายใด พระนางมารีย์ได้ให้กำเนิดพระเยซู ท่านใช้ผ้าอ้อมพันพระกุมารและให้นอนในรางหญ้า คืนนั้นท้องฟ้ามีดาวสุกสกาว โหราจารย์ทั้งสามจากแดนไกลเดินทางตามดาวนั้นมาสักการะบุตรของพระเจ้า พร้อมถวายทองคำ กำยาน และมดยอบเป็นเครื่องสักการะ การกำเนิดของพระเยซูเป็นการแสดงถึงความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ ที่ทรงกรุณาส่งพระบุตรของพระองค์มาบังเกิดและให้พระบุตรรับทรมานแทนเหล่ามนุษยชาติเพื่อปลดบาปให้แก่มวลมนุษย์
.
ใน “คัมภีร์อัลกุรอาน” เล่าไว้ว่า พระเจ้าทรงเลือกพระนางมัรยัมให้เป็นมารดาของนบีอีซา พระองค์ทรงเป่าวิญญาณจากพระองค์เข้าไปในร่างพระนางของมัรยัมทำให้ท่านตั้งครรภ์ พระนางมัรยัมกลัวจะถูกผู้คนประณามว่าตั้งท้องทั้งที่ยังไม่แต่งงาน เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดท่านจึงหลบผู้คนไปยังที่ห่างไกล และให้กำเนิดนบีอีซาภายใต้ต้นอินทผลัมกลางทะเลทรายแห่งหนึ่งเพียงลำพัง ทันใดนั้นพระเจ้าก็ทรงบันดาลให้ผลอินทผลัมสุก และบันดาลให้เกิดลำธารขึ้นที่นั่นเพื่อให้ท่านและลูกได้ทานดับกระหาย แล้วพระนางมัรยัมก็พาอีซากลับบ้าน แน่นอนว่าญาติพี่น้องต่างแตกตื่นและตั้งคำถาม
.
พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้ทารกอีซาตอบข้อข้องใจของทุกคนว่า قَالَ إِنِّي عَبْدُ اللَّهِ آتَانِيَ الْكِتَابَ وَجَعَلَنِي نَبِيًّا มีความหมายว่า “…แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี…” (คัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะห์มัรยัม : ๓๒)
.
“พระแม่มารีย์ (พระนางมัรยัม)” นั้น บทหนึ่ง (ซูเราะห์) ของคัมภีร์อัลกุรอานได้ตั้งชื่อตามชื่อของเธอ เรียกว่า “บทมัรยัม (سورة مريم)” ซึ่งเป็นบทเดียวในคัมภีร์อัลกุรอานที่ตั้งโดยใช้ “ชื่อสตรี” ซึ่งในความเป็นจริง “พระแม่มารีย์ (พระนางมัรยัม)” คือ สตรีคนเดียวที่ถูกเอ่ยชื่อในคัมภีร์อัลกุรอานอย่างชัดเจน ในขณะที่สตรีคนอื่น ๆ จะถูกกล่าวถึงโดยอ้างถึงความสัมพันธ์หรือฉายานาม เช่น ภรรยาของอดัม (อาดัม) แม่ของโมเสส (มูซา) ราชินีแห่งซาบาห์
.
การที่พระนางมัรยัมให้กำเนิดนบีอีซาโดยที่ยังเป็นหญิงพรหมจรรย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงพระอานุภาพของพระเจ้าที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้หากพระองค์ทรงประสงค์
.
นั่นจึงเป็นความเชื่อที่ต่างกันระหว่าง “บุตรพระเจ้าผู้ทรงบังเกิดในคอกสัตว์” ของชาวคริสต์ กับ “ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย” ของมุสลิม
.
ใน “ศาสนาคริสต์” พระเยซู คือ พระบุตรของพระเจ้าที่ทรงลงมาบังเกิดเป็นผู้ไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ และทรงเป็นพระเจ้าด้วย เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ (พระบิดา พระบุตร และพระจิต) พระเยซูถูกทรมานและถูกตรึงกางเขนจนสิ้นชีวิต การพลีชีพของพระองค์คือการไถ่บาปให้แก่มนุษยชาติ
.
แต่ใน “ศาสนาอิสลาม” นบีอีซาเป็นเพียงมนุษย์ เป็นคนดีที่ถูกเลือกให้เป็นนบีหรือศาสนทูตที่คอยชี้นำผู้คนไปในทางที่ถูกต้อง มีฐานะเทียบเท่าศาสดามุฮัมมัดและศาสดาท่านอื่น ๆ อีซายังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “รูฮุลลอฮ์” แปลว่า วิญญาณจากพระเจ้า เพราะท่านเกิดจากวิญญาณจากพระเจ้าที่ถูกเป่าเข้าไปในร่างของมัรยัม
.
และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เรื่องการเสียชีวิตหรือสิ้นพระชนม์ ของ “พระเยซู” ของชาวคริสต์ และ “นบีอีซา” ของมุสลิม
.
“ความเชื่อชาวมุสลิม” ในคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า พระเยซู (นบีอีซา) ไม่ได้ถูกตรึงกางเขน ผู้ที่ถูกตรึงเป็นคนอื่น ดังพระวจนะว่า وَمَا قَتَلُوهُ وَمَا صَلَبُوهُ وَلَـكِن شُبِّهَ لَهُمْ มีความหมายว่า “…และพวกเขาหาได้ฆ่าอีซา และหาได้ตรึงเขาบนไม้กางเขนไม่ แต่ทว่าเขาถูกให้เหมือนแก่พวกเขา…” (คัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะห์อันนิซาอ์ : ๑๕๗) กล่าวคือ “นบีอีซาไม่ได้ตาย” แต่พระเจ้ารับท่านไปอยู่กับพระองค์แล้วทรงบันดาลให้มีคนหน้าคล้ายท่านถูกจับไปตรึงกางเขนแทน
.
ส่วน “ความเชื่อชาวคริสต์” ในคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า พระเยซู (นบีอีซา) ถูกตรึงกางเขน ว่า “…เมื่อตรึงพระองค์ที่กางเขนแล้ว พวกเขาก็เอาฉลองพระองค์มาจับฉลากแบ่งกัน…” (ภาคพันธสัญญาใหม่, มัทธิว ๒๗ : ๓๕) กล่าวคือ “พระเยซูถูกตรึงกางเขน จนสิ้นพระชนม์
.
ถึงแม้ฐานะและเรื่องราวของ “พระเยซู” ของชาวคริสต์ และ “นบีอีซา” ของมุสลิมจะต่างกันไปบ้าง แต่ศาสนาทั้งสองเชื่อตรงกันว่า “…พระเยซู (นบีอีซา) จะกลับมาอีกครั้งในวันสิ้นโลก…”
.
แม้ว่า “ชาวคริสต์” กับ “ชาวมุสลิม” จะมีความเชื่อที่ไม่ตรงกันบ้างในเรื่องของ “พระเยซู” หรือ “นบีอีซา” และ “พระแม่มารีย์” หรือ “พระนางมัรยัม” แต่ความแตกต่างในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเท่ากับการที่ทั้งศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือสอนให้ผู้คนยึดมั่นในพระเจ้าและพากเพียรทำความดี
cr.โบราณนานมา
.
บรรณานุกรม
(๑) วัดเซนต์จอห์น กรุงเทพมหานคร.
(๒) บรรจง บินกาซัน, สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ, กรุงเทพฯ: อัลอะมีน, ๒๕๔๒.
(๓) สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย, ผู้แปล, พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย, มะดีนะฮ์: ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน, ๒๕๕๓.
(๔) วสมน สาณะเสน, ๒๕๖๓. คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://readthecloud.co/isa-jesus-in-islam/. ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๓.