รมว.อว. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานการจัดการภัยพิบัติพร้อมชื่นชมความสำเร็จ “แพลตฟอร์มสู้ภัยพิบัติ” ในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมผลักดันสู่ระดับชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนงานด้านการจัดการภัยพิบัติ พร้อมประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยโครงการ “อว.เพื่อประชาชน” ซึ่งดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับคำชื่นชมจาก รมว.อว. ในฐานะต้นแบบของการบูรณาการความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมวางแผนขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกระดับทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ นำโดย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการ บพท. และผู้บริหารจากทั้งสามมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับพร้อมรายงานสรุปการจัดการด้านภัยพิบัติในสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี ผศ. ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และ ดร.ไอร์นี แอดะสง หัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นำโดย ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นำโดย รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอบทบาทของสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการรับมือกับภัยพิบัติ ว่า โดยสถาบันฯทั้ง 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีนักศึกษารวมกันกว่า 25,000 คน อาจารย์และบุคลากรกว่า 2,300 คน 80% เป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในกรณีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการจัดตั้งทีมจิตอาสาจากนักศึกษาและบุคลากรที่มีจำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อช่วยกันปรุงอาหาร ส่งมอบสิ่งของ และฟื้นฟูบ้านเรือนรวมถึงโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งทีมปฏิบัติการ 8 ทีม ได้แก่ ทีมข้อมูลสถานการณ์น้ำ, ทีมข้อมูลสถานการณ์พื้นที่, ทีมรับบริจาค, ทีมกำลังพล, ทีมครัวเฉพาะกิจ, ทีมสื่อสารประสานงาน, ทีมเทคโนโลยีภัยพิบัติ และทีมประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี ด้วยศักยภาพของทีมปฏิบัติการเหล่านี้ ม.อ.ปัตตานีสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ และให้การช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักศึกษา ศิษย์เก่า ม.อ., องค์กรภาคเอกชน และประชาชน ช่วยส่งต่อความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยในจังหวัดปัตตานีกว่า 10,000 คน
นอกจากนี้มี ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ม.อ. และหัวหน้าโครงการพีบีวอทช์ เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี ยังได้นำเสนอระบบข้อมูลพยากรณ์สภาพอากาศและสถานการณ์ภัยพิบัติที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศน้ำในการเผยแพร่ข้อมูลแบบ real-time เพื่อช่วยในการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติ รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศมาเลเซีย
ด้าน ผศ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.อ.ปัตตานี ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ ร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งทางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน รวมทั้งได้ส่งมอบคุณค่าสงขลานครินทร์ให้นักศึกษาได้ร่วมช่วยเหลือสังคม เหล่านี้ล้วนเป็นบทบาทหน้าที่ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดเผยถึงการตรวจเยี่ยมพื้นที่และชี้แจงผลการดำเนินงานด้านภัยพิบัติ ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้มุ่งเน้นการตรวจเยี่ยมและประเมินผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยได้พัฒนาระบบ “แพลตฟอร์มสู้ภัยพิบัติ (Disaster Platform)” ที่บูรณาการข้อมูลและเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ยังเป็นการสานต่อพระราชปณิธาน “จิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ” ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวดำเนินการโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ เช่น ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว ผู้ดูแลการขับเคลื่อนในพื้นที่ปัตตานี ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย ดูแลพื้นที่ยะลา และ รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รับผิดชอบพื้นที่นราธิวาส คณะทำงานได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ความช่วยเหลือจากสามมหาวิทยาลัยครอบคลุมหลากหลายด้าน อาทิ การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ให้บริการด้านสูติกรรม การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง โรงครัวชุมชน บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานพาหนะ รวมถึงบริการด้านสัตวบาลและสาธารณสุข
“ตนมีความพึงพอใจต่อการบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย และย้ำถึงความสำคัญของการขยายผลแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ พร้อมผลักดันให้มีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและเครือข่ายที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต ทั้งนี้ กระทรวง อว. จะยังคงสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าว