มอ.ปัตตานีดึงศักยภาพทักษะ “ด้านศิลปะ” เป็นสื่อกลางระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

พลังน้ำใจ ชาว ม.อ.ปัตตานี ยังไม่หยุดหลั่งไหล ดึงศักยภาพทักษะ “ด้านศิลปะ” เป็นสื่อกลางระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

เช้านี้ (4 ธ.ค.67) เวลา 09.00 น. ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี รับมอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 6,199 บาท จากการเปิดประมูลภาพวาด ผลงาน อิ่ม – สุข ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค โดย ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ (น้องปัณณ์) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ( ฝ่ายประถมศึกษา ) จากแนวความคิด บ้าน คือ ศูนย์กลางของความสุข เป็นพลังแห่งชีวิตที่เชื่อมต่อทุกคนในสังคมให้เกิดความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเข้ากับสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ที่เจ้าของผลงานปรารถนาจะส่งพลังใจจากเด็กตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการประมูล โดย ผศ.ดร.ศมลพรรณ ธนะสุข สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบ คณะวิทยาการสื่อสาร โดยเงินรายได้ทั้งหมด นำมาสมทบร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี


.
ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือสังคมไม่ได้จำกัดเพียงการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้ความสามารถและทักษะที่มี ทั้งนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร นำความสามารถความแตกต่างของแต่ละคนมาเติมเต็มเพื่อช่วยสังคม อย่างเช่นภารกิจวันนี้ที่เห็นได้ชัดเจนจาก การเปิดประมูลผลงานศิลปะ จากนักเรียนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ โดยอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอส่งมอบกำลังใจให้กับทุกท่าน ให้รอดพ้นฝ่าฟันวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน และขอแสดงความขอบคุณต่อผู้มีจิตศรัทธาและจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นการทำเพื่อสังคมด้วยพลังน้ำใจ นำเอาความรู้ความสามารถและทักษะช่วยกันสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง “พระราชปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ หรือ “น้องปัณณ์” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายประถมศึกษา) เปิดเผยว่า ตนเองมีความรักในงานศิลปะและสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเคยส่งภาพวาดเข้าประกวดในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี ต้องการมีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย แม้จะมีข้อจำกัดในฐานะเด็กที่ไม่สามารถลงพื้นที่ช่วยงานได้โดยตรง จึงเลือกนำความสามารถด้านศิลปะมาประมูลภาพวาด เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพี่น้องผู้เดือดร้อน โดยมีแรงบันดาลใจว่า “ผมอยากทำสิ่งที่ช่วยสังคมได้ และเหตุผลเดียวที่ทำคือ ทำแล้วมีความสุข”


.
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิญชวนร่วมบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ โดย รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ภาพวาดสีน้ำเกี่ยวกับวิธีชีวิต สถานที่สวยงามในปัตตานี ขนาด 27 X 38 เซนติเมตร ไม่มีกรอบ จำนวน 29 ภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพิ่มเติม กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของศิลปะที่สามารถสร้างสรรค์ความสุขและความช่วยเหลือให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งจากความตั้งใจของเยาวชนและความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในสังคม

รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตนมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำทักษะด้านศิลปะที่ถนัดมาใช้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยผลงานศิลปะภาพวาดสีน้ำที่สร้างขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดปัตตานี ผ่านกระบวนการ Storytelling และการสื่อสารในรูปแบบ Soft Power
“ผมหวังให้ทุกคนได้สัมผัสถึงคุณค่าและความสุนทรีย์ของงานศิลปะ พร้อมทั้งเห็นศักยภาพของศิลปะที่สามารถนำมาใช้ตอบแทนและช่วยเหลือสังคมได้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจร่วมรับภาพและบริจาคเงินมาจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคราม และจังหวัดขอนแก่น ”


.
รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ การสร้างผลงานดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ที่สนใจในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้ร่วมสนับสนุนผ่านการรับผลงานศิลปะพร้อมทั้งบริจาคเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป

สำหรับผู้มีจิตช่วยเหลือ สามารถร่วมสมทบเงิน โดยการแสดงความคิดเห็นใต้ภาพที่ต้องการรับ พร้อมแนบสลิปการโอนเงิน และแจ้งที่อยู่ในการจัดส่ง ระหว่างวันที่ 2-10 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทาง FB : ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ รายได้ทั้งหมดร่วมสมทบทุนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี