“อว.” ร่วมกับพันธมิตร ผลักดันวิทยาศาสตร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการเลี้ยงแพะในภาคใต้ชายแดน สนับสนุนเกษตรกรสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมผลักดันให้พื้นที่เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ฮาลาลคุณภาพสูง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน : กรอบความร่วมมือการยกระดับการผลิตแพะภาคใต้ชายแดนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า ประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ . สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ศอ.บต. ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี นักวิจัย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมประชุมและหารือ
โดยมีการหารือในประเด็นที่สำคัญ คือ Mapping การพัฒนาและยกระดับคุณภาพแพะ ด้วย ววน. โดยผู้แทนจากหน่วยงาน อว. , การพัฒนาเกษตรกรได้รับการพัฒนาความรู้ในการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ และต่อยอดการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม รองรับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล” โดย ผู้แทนจาก ศอ.บต. , ร่วมหารือเรื่องศักยภาพและโอกาสในตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แพะ โดยพาณิชย์จังหวัดปัตตานี , การจัดงานเทศกาล “แพะ เฟสติวัล” โดย สป.อว. (กปว.) และประเด็นการหารือการจัดทำกรอบความร่วมมือการยกระดับการผลิตแพะภาคใต้ชายแดนด้วย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนว่า กระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ในด้านการเลี้ยงแพะก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การพัฒนานี้ไม่ได้เพียงเน้นที่การเพิ่มผลผลิต แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ที่ยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน การประชุมหารือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตแพะ ตลอดจนยกระดับรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน มีข้อสรุปที่สำคัญ คือ ประการที่ 1.การจัดทำฐานข้อมูล (Mapping) การเลี้ยงแพะ – เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่และศักยภาพของพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงแพะ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเลี้ยงแพะได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการเลี้ยงแพะ – การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการให้อาหาร การดูแลสุขภาพ และการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของแพะ 3. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ – การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแพะ เช่น เนื้อแพะ นมแพะ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์จากแพะในพื้นที่ และประการที่ 4 การส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น – การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาการเลี้ยงแพะ ทั้งในด้านความรู้ เทคโนโลยี และการตลาด
การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเลี้ยงแพะในภาคใต้ชายแดนให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล” มาปฏิบัติจริง