สตช.ผ่านการประเมิน ‘คุณธรรม-โปร่งใส’ ของปปช.ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

44

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือเรียกย่อๆ ว่า ITA ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระดับ “ผ่าน” ครั้งแรก

ผลประเมินได้ 85.92 คะแนน มากกว่าปีที่แล้วที่ได้เพียง 58.80 คะแนน อยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุงโดยด่วน” คือปี 2567 บวกเพิ่มขึ้นพรวดเดียวถึง 27.12 คะแนน

ข้อมูลเมื่อปี 2566 ตำรวจทั่วประเทศส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มรู้จัก ITA หลัง ป.ป.ช.ประกาศผลการประเมินว่า ตร.สอบตกอยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุงโดยด่วน”

นั่นคือ สถานีตำรวจทั่วประเทศทั้ง 1,484 แห่ง ปรากฏว่ามีสถานีตำรวจผ่านเกณฑ์การประเมินเพียง 208 แห่งเท่านั้น คิดเป็น 14% ของสถานีตำรวจทั่วประเทศ

สาเหตุที่สถานีตำรวจไม่ผ่านการประเมิน เนื่องมาจากแต่ละแห่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการประเมิน และการสร้างการรับรู้กับภาคประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอกที่ยังทำได้ไม่ดี

เมื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ได้มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังนำข้อบกพร่องต่างๆ มาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อปรับปรุงและยกระดับการทำงานและตั้งเป้าให้ ตร.ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้ได้

ถึงกับบรรจุเป็น 1 ใน 10 นโยบายบริหารราชการสำคัญของ ตร.ที่ต้องเป็นวาระผลักดันในรอบปีที่ผ่านมาพร้อมทั้งได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้น มี พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้า

รวมทั้ง พล.ต.ท.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ จเรตำรวจ และ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ซึ่งมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนการประเมิน ITA ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สมัยนั่งเป็นรอง ผบช.น. จนสามารถเป็นแม่แบบของตำรวจทั่วประเทศมาเป็นพี่เลี้ยง

คณะทำงานของจเรตำรวจแห่งชาติได้กำกับดูแลการประเมิน ITA ทุกระดับ ตร. ตั้งแต่ระดับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ลงไปถึงตำรวจภูธรจังหวัด

การทำงาน “ทีม พล.ต.อ.ไกรบุญ” ได้มีการติดตามขับเคลื่อน พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและให้การสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้หน่วยรับการประเมินสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ ปี 2567 ยังขยายการประเมินครอบคลุมไปถึงสถานีตำรวจท่องเที่ยว สถานีตำรวจทางหลวง และด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,648 แห่ง จากเดิม 1,484 โรงพัก

และยังมีการพิจารณาผลคะแนน ITA เฉลี่ยของหน่วยกำกับติดตามระดับตำรวจภูธรจังหวัดและกองบังคับการตำรวจนครบาล จำนวน 85 หน่วย มีจำนวนผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความคิดเห็น ในการดำเนินงานกว่าหนึ่งแสนคน

ผลการประเมินปรากฏว่า สถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,484 แห่ง ผ่านประเมินถึง 1,327 สถานี คิดเป็นร้อยละ 89.42 เทียบกับปี 2566 ผ่านประเมินแค่ 208 สถานี เพิ่มมากขึ้นถึง 1,119 สถานี

และได้ระดับคะแนนอยู่ในระดับ “ผ่านดี” ถึง 815 สถานี ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานีตำรวจมีผลคะแนนที่ดีขึ้นเนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หรือ OIT ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อสแกนในรายละเอียดผลคะแนน แบ่งกองบัญชาการเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ระดับ “ผ่านดีเยี่ยม” มี บช.น. ได้คะแนน 96.32 จากปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ “ผ่าน” ได้ 89.83 คะแนน ถือว่าอัพเกรด 2 ระดับ

“ผ่านดี” มี ตำรวจภูธรภาค 1 ได้ 93.92 คะแนนจากปีที่แล้วได้ 75.82, ตำรวจภูธรภาค 4 ได้คะแนน 90.92 จาก 74.93 คะแนน ซึ่งปีที่แล้วทั้ง 2 ภาคนี้อยู่ในเกณฑ์ “ต้องปรับปรุง” ได้ปรับขึ้นมา 2 ระดับ, ตำรวจภูธรภาค 2 ได้คะแนน 92.07 จาก 56.19, ตำรวจภูธรภาค 5 ได้คะแนน 93.79 จาก 63.45, ตำรวจภูธรภาค 6 ได้คะแนน 93,23 จาก 65.44, ตำรวจภูธรภาค 7 ได้คะแนน 94 จาก 66.68, ตำรวจภูธรภาค 8 ได้คะแนน 92.08 จาก 56.94 คะแนน

ปีที่แล้ว ทั้ง 5 ภาคนี้ อยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุงโดยด่วน” ได้อัพ 3 ระดับ

และระดับ “ผ่าน” มีตำรวจภูธรภาค 3 ได้คะแนน 90.24 จากปีที่แล้ว 65.89 คะแนน อยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุงโดยด่วน”, ตำรวจภูธรภาค 9 ได้ 88.51 คะแนน จาก 58.99 คะแนน ในระดับ “ต้องปรับปรุงโดยด่วน” เช่นกัน เลื่อนขึ้นมา 2 ระดับ

ถ้าพิจารณาจากตำรวจภูรจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่เกาะกลุ่มอยู่ในระดับ “ผ่าน” และ “ผ่านดี”

ส่วนที่โดดเด่น “ผ่านดีเยี่ยม” มีตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก และตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์

และที่ “ต้องปรับปรุง” มีแห่งเดียว คือ ตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร

พล.ต.ต.ชัชชัย วงค์สุนะ ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร เปิดเผยถึงที่มาคะแนนอยู่ในระดับ “บ๊วย” ว่า เป็นปัญหาจากการกรอกข้อมูลในระบบที่ทำได้ไม่สมบูรณ์ พอเข้าอินเตอร์เน็ตอัพเดตช้า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ในจังหวัดได้มาฝึกอบรม แต่มาทำทีหลัง ในส่วนของการให้บริการประชาชนด้านอื่นๆ ถือว่าทำได้ดีที่สุดในตำรวจภูธรภาค 4 รวมทั้งความโปร่งใสที่สุด พื้นที่มีความสงบเรียบร้อย คดีน้อย ผู้ต้องหาน้อย และประชาชนได้ให้ความร่วมมืออย่างดี ปีหน้าจะรีบแก้ปัญหาเพื่อให้ผลประเมินผ่าน

สะท้อนให้เห็นว่า ตร.มีความตระหนักและพยายามที่จะพัฒนามากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งพยายามที่จะปรับปรุงการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อประชาชนผู้รับบริการมากขึ้น

ตลอดจนพยายามที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงานได้รับการเผยแพร่ที่เว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อให้ประชาชนเข้าติดตามตรวจสอบได้

รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรวมเพื่อลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะมีบุคคลในหน่วยงานทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนการประเมินตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั้ง 90 แห่ง สถานีตำรวจท่องเที่ยว 33 แห่ง ปรากฏว่าผ่านการประเมินทั้งหมด

มีเพียงสถานีตำรวจทางหลวง จำนวน 24 จาก 41 แห่ง ที่ยังคงต้องปรับปรุงคิดเป็นร้อยละ 58.5

จึงนับได้ว่า เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้ฝากไว้ในนามของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ให้กับประชาชนและข้าราชการตำรวจ ได้ภาคภูมิใจกับหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

สมดั่งวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมาย ในระดับมาตรฐานสากล ที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา”