วุฒิสภา ตีตก ญัตติด่วน สอบจริยธรรมตุลาการศาลรธน. ชี้ ให้ใช้ช่องทางอื่น

6

มติ วุฒิสภา 118 ต่อ 37 เสียง ตีตก ญัตติด่วน สอบจริยธรรมตุลาการศาลรธน. สว.รุมฉะ ปัญหาน้ำท่วมด่วนกว่า ไล่ไปยื่นสอบกับ ป.ป.ช. ตามกลไก

วันที่ 2 ก.ย.2567 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้วุฒิสภามีการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง แสดงความเห็นบนเวทีสาธารณะในเชิงส่อเสียด เย้ยหยันพรรคการเมืองที่ถูกยุบ

ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว ถูกสารธารณชนตั้งคำถามถึงการแสดงออกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอให้วุฒิสภาได้พิจารณาเป็นเรื่องด่วน พร้อมให้ที่ประชุมลงมติส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำการตรวจสอบจริยธรรมกันเองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แต่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ได้ลุกขึ้นอภิปราย เพื่อตั้งข้อสังเกตว่า ญัตติที่ น.ส.นันทนา เสนอเป็นเรื่องด่วนจริงหรือไม่ ตนเห็นว่าเรื่องด่วนในตอนนี้ คือ เรื่องของประชาชนที่ประสบอุทกภัย จึงเห็นว่าญัตติดังกล่าวไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการพาดพิงบุคคลภายนอก และหากน.ส.นันทนา ต้องการจะตรวจสอบอย่างถูกต้องจริงๆ ควรไปยื่นตรวจสอบตามกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับ นายอลงกต วรกี สว. อภิปรายเห็นว่า กรณีที่กรรมการองค์กรอิสระหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ควรไปยื่นเรื่องตรวจสอบกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ด้านพล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว. อภิปรายว่า ญัตติที่ น.ส.นันทนา เสนอนั้น สส.ได้เสนอเรื่องโดยตรงต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องด่วน ยังมีเรื่องเร่งด่วนมากกว่านี้ และไม่ควรไปพาดพิงถึงบุคคลภายนอก

ขณะที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. อภิปรายเห็นว่า ญัตติตามที่ น.ส.นันทนา เสนอเป็นเรื่องด่วน และวุฒิสภาควรใช้ดุลยพินิจให้ทุกญัตติที่มีการเสนอมาเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้วุฒิสภาได้อภิปรายตรวจสอบ โดยเฉพาะกรรมการองค์กรอิสระ ที่วุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ

ทั้งนี้ พล.อ.เกรียงไกร ได้วินิจฉัยให้ น.ส.นันทนา เสนอญัตติด่วนได้ แต่ต้องใช้มติของวุฒิสภาตัดสินว่าจะพิจารณาญัตติด่วนดังกล่าวหรือไม่ โดยผลการลงคะแนนพบว่าเสียงข้างมาก 118 เสียง ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ต่อ 37 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง ทำให้ญัตติดังกล่าว ต้องเป็นอันตกไป