“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้อง กกต. สอบ “แพทองธาร ชินวัตร” มีเหตุต้องพ้นจาก ตำแหน่งนายกฯ ตาม ม. 170(5) ประกอบ ม.187 หรือไม่
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่าได้มีหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 แล้ว และกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยมีความในหนังสือเป็นข้อ ๆ ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา หัวข้อ ‘แพทองธาร’ ลาออก กก.ธุรกิจเกลี้ยง 21 บริษัท- ‘อัลไพน์’ ด้วย หลัง ‘เศรษฐา’ พ้นวันเดียว ลงข่าวพร้อมภาพ โดยมีข้อความข่าวบางส่วน ดังนี้
“นายกฯ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ ลาออก กก.ธุรกิจเครือชินวัตรเกลี้ยง 21 บริษัท มีสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย พบ ทำหนังสือมอบอำนาจ 15 ส.ค.2567 ส่งลูกน้องยื่นจดทะเบียนกรมพัฒนาฯ 19 ส.ค. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย‘เศรษฐา ทวีสิน’พ้นตำแหน่งคดีตั้ง‘พิชิต’ 14 ส.ค. เพียงวันเดียว
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 (นายกฯคนที่ 31 เป็นนายกฯสุภาพสตรีคนที่ 2 ของทำเนียบนายกฯ) และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นักธุรกิจผู้มั่งคั่งของเมืองไทย ปูมหลังทางการธุรกิจ เป็นกรรมการบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย จำนวน 23 บริษัท ในจำนวนนี้เลิกดำเนินการ 2 บริษัท ยังเปิดดำเนินการ 21 แห่ง มูลค่าการถือหุ้นเกือบหมื่นล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานก่อนหน้านี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้มอบอำนาจให้บุคคลอย่างน้อย 3 คนยื่นจดทะเบียนลาออกจากกรรมการของนางแพรทองธารทั้ง 21 แห่งแล้ว ตัวอย่างดังนี้…” (มีตัวอย่างภาพเป็นเอกสารของ 4 บริษัท แนบ)
ข้อ 2. จากตัวอย่างภาพเป็นเอกสารของ 4 บริษัท ที่สำนักข่าวอิศราแนบมาในข่าว มีข้อควรสังเกต คือ
คำขอจดทะเบียนบริษัท (แบบ บอจ.1) ลงรับวันที่ 19 สิงหาคม 2567 แต่มีข้อความในท้ายของแบบว่า “ขอรับรองว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้าจริง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ลงชื่อ สมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา” และคำขอดังกล่าว ลงนามโดย นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และนายอุดมศักดิ์ โง้วศิริ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ
คำรับรองการจดทะเบียนบริษัท ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2567 (2) ระบุว่า “ได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 บริษัทได้รับเมื่อ 15 สิงหาคม 2567
หนังสือมอบอำนาจของบริษัท ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 แต่ไปเสียค่าอากรในวันที่ 19 สิงหาคม 2567
ข้อ 3. จากเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย วันที่ 15 สิงหาคม 2567 เวลา 17.30 น. ระบุว่า “พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เพราะปากท้องประชาชนรอไม่ได้ พร้อมเดินหน้าสานต่อนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน”
ข้อ 4. จากข่าวของสำนักข่าวอิศรา และเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่ และถ้ามีการมอบอำนาจลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เหตุใดจึงไม่ไปจดทะเบียนในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันศุกร์ และทำไม จึงไปจดทะเบียนในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ซึ่งห่างกันอีก 4 วัน กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัย ทั้งนี้ เทียบเคียงจากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1. ในฐานะนายกรัฐมมนตรี เคยโต้แย้ง กรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544
ข้อ 5. ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1. ในฐานะนายกรัฐมมนตรี ได้โต้แย้งไว้ในข้อ 3.3 ดังนี้
“มติของผู้ร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เข้าร่วมประชุมและมีมติด้วย คือ คุณหญิงปรียา ฯ ซึ่งกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 258 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 11 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) โดยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท วงศ์อมร จำกัด กรรมการและลูกจ้างทำบัญชีของบริษัท เกษมวนารมย์ จำกัด และยังคงดำรงตำแหน่งและเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่ได้รับเลือก และหลังวันที่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดมาจนถึงวันที่ลาออกจากกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท วงศ์อมร ฯ ก็เพิ่งจะลาออกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2544 โดยอ้างเหตุว่า ลืมลาออก การดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ของคุณหญิงปรียา ฯ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ และผู้ร้องก็รู้เหตุที่คุณหญิงปรียา ฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนที่ผู้ร้องจะมีมติกรณีของผู้ร้องในวันที่ 26 ธันวาคม 2543 เพราะในวันดังกล่าวมีประชาชนยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทราบถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการและลูกจ้างของคุณหญิงปรียา ฯ
ผลของการที่ถือว่า คุณหญิงปรียา ฯ พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะถือว่า ไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น หรือพ้นจากตำแหน่งในภายหลัง ย่อมจะทำให้มติของผู้ร้อง ที่มีคุณหญิงปรียา ฯ เข้าประชุมด้วย หรือมีส่วนกระทำการหรือแสดงความคิดเห็น ใช้ไม่ได้ด้วย มติของผู้ร้องเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีคุณหญิงปรียา ฯ เป็นผู้รายงานผลการสอบสวนและร่วมประชุมอยู่ด้วย จนเป็นผลให้ผู้ร้องมีมติว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีของผู้ถูกร้องได้”
ข้อ 6. ดังนั้น การลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 แต่ไปจอทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2567 จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า วันที่ลาออกจริงนั้น คือวันที่ใด มีการทำเอกสารย้อนหลัง หรือไม่ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีการลาออกหลังจากวันที่ 16 สิงหาคม 2567 จะมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก ซึ่งรอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลมาให้ และจะนำมาตรวจสอบเพื่อส่งให้ กกต. พิจารณาต่อไป