พรรคเพื่อไทย ส่อตายน้ำตื้น สำนักข่าวอิศรา ตีแผ่ เอกสารลับ มีมือดี ไม่เปิดเผย ชื่อ นามสกุล ยื่นร้อง กกต. มัด “ทักษิณ” ครอบงำ “เศรษฐา” ยุบพรรคเพื่อไทย
วันที่ 25 ส.ค.2567 – สืบเนื่องจากกรณี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ต้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
ล่าสุดมีรายงานข่าวระบุว่ามีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยขอให้ กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย โดย สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยรายละเอียดในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง ร้องเรียนการกระทำโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค
เรียน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
ข้าพเจ้า .(สงวนชื่อ-นามสกุล)….. ผู้ร้อง ในฐานะปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีสิทธิเสนอเรื่องราวต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็วตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ขอร้องเรียนเต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มีหลักฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งรองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง โดยเป็นการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) โดยยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ร้องได้รับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ระหว่าง ประธานวุฒิสภา ผู้ร้อง กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า “ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ…..”
ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังเป็นยุติดังกล่าว เป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่สำคัญทำให้เห็นถึงการยินยอมของนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเพื่อกระทำการโดยมิชอบ และทำให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร มีเจตนาชี้นำผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องรับรู้หรือเห็นชอบในการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเป็นการชี้นำเพื่อผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่านายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นการที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยินยอมดำเนินการตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ หรือยินยอมตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำเอาความต้องการของนายทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยให้บรรลุผลตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยควรรู้ว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าวมาจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปรากฏจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างแพร่หลายว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2567 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร กับช่วงเวลาก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 ส่วนที่ 3 การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อ 112 ที่กำหนดว่า “ การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกําหนด ”
ดังนั้น การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบบุคคลซึ่งหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร และหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสินเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชี้นำให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แต่เมื่อข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยกำหนดให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จึงไม่อาจดำเนินการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีได้โดยลำพัง แต่จะต้องนำเอาการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และเมื่อประกอบกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จึงทำให้การชี้นำพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ไม่มีข้อติดขัด ดังนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจึงย่อมจะต้องรับรู้และยินยอมต่อการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค
อีกทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน หรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ยังเคยได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ต้องการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี จากที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่า ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้นายพิชิต ชื่นบาน ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยินยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยไม่เห็นด้วยมาก่อน โดยในครั้งก่อนเป็นช่วงเวลาที่นายทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงทำให้การชี้นำไม่สำเร็จ แต่ในครั้งนี้นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการปล่อยตัวและนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าพบที่บ้านพัก จึงทำให้การชี้นำประสบความสำเร็จ การชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้จึงทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ปรากฏตามภาพข่าวนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
การกระทำดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ” พรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนจะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน
การกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม มาตรา 29 ที่บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ” ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน
โดยบทบัญญัติทั้งสองมาตราในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่แสดงถึงการยินยอมของพรรคเพื่อไทย ให้นายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่เป็นสมาชิก ชี้นำกิจกรรมของพรรค โดยปรากฏชัดต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป ซึ่งทำให้วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้ชัดเจนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำกิจการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยขาดความอิสระ ได้แก่ เหตุการณ์และพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์และการยอมรับการชี้นำจากนายทักษิณ ชินวัตร ของพรรคเพื่อไทย ในช่วงเวลาหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมาประเทศไทย ดังนี้
22 สิงหาคม 2566 ( วันเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ) นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินส่วนตัวถึงสนามบินดอนเมือง มีสมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหลายคนไปต้อนรับที่ประตูทางออกอาคารสนามบิน เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
24 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากนายทักษิณฯ ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับไปบ้านพัก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
14-16 มีนาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยจำนวนหลายคนเดินทางไปให้การต้อนรับ โดยรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่บ้านพักจังหวัดเชียงใหม่ เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
26 มีนาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย มีแกนนำที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนหลายคนให้การต้อนรับ หนึ่งในนั้นคือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จะเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า นายทักษิณ ชินวัตร เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ความสำเร็จของพรรค หากมีโอกาสก็จะไปขอคำปรึกษาให้กับกระทรวงคมนาคม จะทำอย่างไรให้สนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมาติดอันดับโลกได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งถนนและราง ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
30 มีนาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายอนันต์ ฉายแสง บิดาของนายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่วัดเทพนิมิต ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหลายคนให้การต้อนรับ ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป เอกสารหมายเลข 6
5 เมษายน 2567 พรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารพรรค และองค์ประชุมจะต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าร่วมประชุม ช่วงแรกของการประชุมได้นำวิดีโอมาฉายให้สมาชิกรับชมในที่ประชุม โดยมีเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคำกล่าวของนายทักษิณ ชินวัตร ในลักษณะให้โอวาทแก่สมาชิกพรรคเพื่อไทย เช่น เนื้อหาตอนหนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวชี้นำคณะกรรมการบริหาร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ถึงแนวทางการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย ไม่ให้เป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมใหม่ และอีกตอนหนึ่งชี้นำในเรื่องการทำงานในสภา การสะท้อนปัญหาในสภา การปฏิบัติตน วิธีการและความถี่ในการเข้าถึงประชาชน ว่า
…..พรรคเพื่อไทยต้องเข้าใจว่าสังคมวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว การเข้าถึงประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ จะเข้าถึงด้วยทางกายภาพหรือด้วยสื่อก็ต้องเข้าถึง เพราะฉะนั้นอย่าเป็นคนที่ไม่เข้าถึงประชาชน แล้วก็แน่นอนว่าการสะท้อนปัญหาในสภาทำได้แม้ไม่ได้เป็นผู้บริหาร จึงอยากให้ สส.เพื่อไทยเข้าถึงประชาชน ส่วนการทำงานในสภาก็ต้องเข้มแข็ง และสำคัญที่สุดคือหัวใจ ถ้าเราเป็นนักการเมืองที่ดีได้ต้องเป็นนักการเมืองที่รักประชาชน ประชาชนเดี๋ยวนี้มองตาเราก็รู้ว่าเรามีเมตตาธรรม หรือเป็นคนถือตัวไม่สนใจชาวบ้าน เขามองออก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับความรู้สึกของชาวบ้าน จะมาเสแสร้งไม่กี่วันหรือหนึ่งเดือนก่อนจะเลือกตั้งเขารู้หมด เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่กับชาวบ้านให้ได้….
สรุปเรื่องที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ ได้แก่ 1) ต้องเข้าถึงประชาชนทั้งด้วยตนเองหรือด้วยสื่อ 2) อย่าเป็นคนที่ไม่เข้าถึงประชาชน 3) ต้องสะท้อนปัญหาในสภาแม้ไม่ใช่ผู้บริหาร 4) สส.เพื่อไทยต้องเข้าถึงประชาชน 5) การทำงานในสภาต้องเข้มแข็ง 6) ต้องเป็นนักการเมืองที่รักประชาชน 7) อย่าเสแสร้งแค่ไม่กี่วันหรือหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้ง และ 8) ต้องอยู่กับชาวบ้านให้ได้ การที่พรรคเพื่อไทยนำวิดีโอมาเปิดในที่ประชุมใหญ่ของพรรคก่อนเริ่มกิจกรรมอื่น แสดงว่าพรรคเพื่อไทยเห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค โดยมีเจตนาให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ อันเป็นการยินยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อกิจกรรมของพรรค ซึ่งสมาชิกอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเมืองที่ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมใหม่และวิธีการทำงานที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ แต่อาจต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สืบต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย อีกทั้งเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษต่อสมาชิกในการคัดเลือกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงทำให้สมาชิกขาดความอิสระจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป เอกสารหมายเลข 7 และคลิปวิดีโอในเว็ปไซต์ยูทูป
15 เมษายน 2567 สมาชิกและรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเข้ารดน้ำขอพรนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านพักจังหวัดเชียงใหม่ เช่น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง, นายเกรียง กัลป์ตินันท์, นายชูศักดิ์ ศิรินิล,นายพิชิต ชื่นบาน, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยผู้ที่เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสจะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ในนามพรรคเพื่อไทย จึงแสดงว่านายทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทต่อการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
14 สิงหาคม 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ในช่วงเย็นวันเดียวกันรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ต่างประเทศ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่จะต้องมีการตั้งรัฐบาลใหม่และจะต้องเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดที่ร่วมรัฐบาลเดิม จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าการเดินทางมายังบ้านจันทร์ส่องหล้าของบุคคลในพรรคการเมืองต่าง ๆ ในครั้งนี้ เป็นการที่พรรคเพื่อไทยในฐานะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เรียกแกนนำของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาลเดิม มาปรึกษาหารือในเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีความสำคัญสูงสุดของทุกพรรคการเมือง ซึ่งควรจะกระทำโดยหัวหน้าพรรคการเมือง ณ ที่ทำการของพรรคการเมือง แต่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ทำหน้าที่แทนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ณ บ้านที่ตนเองพักอาศัย และหลังจากนั้นได้ปรากฏรายชื่อบุคคลที่จะได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในสื่อมวลชนต่าง ๆ ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นนักการเมืองอาวุโสที่มีภาพลักษณ์ดีในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ได้พูดในรายการคมชัดลึก สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมีขึ้น ได้พูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าคนที่จะปรับคณะรัฐมนตรีไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนนี้ แต่เป็นคนนอก…..อันแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นที่มิใช่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยครอบงำหรือมีอำนาจเหนือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย และเหนือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 10 และคลิปวิดีโอในเว็ปไซต์ยูทูป
จากหลักฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันควรเชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค ประกอบกับพฤติการณ์ของแกนนำพรรคเพื่อไทยซึ่งแสดงออกในหลายเหตุการณ์ถึงการให้การยกย่อง ให้ความสำคัญ ให้ความใกล้ชิด ให้การต้อนรับ และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการยอมรับการชี้นำจากนายทักษิณ ชิวัตร รวมทั้งการนำวิดีโอที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำแนวทางไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมใหม่ และชี้นำการปฏิบัติตนของสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาเปิดในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ภายใต้การรู้เห็นของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จึงแสดงว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้สมาชิกและคณะกรรมการบริหารพรรคขาดความอิสระ และนายทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำที่เป็นการชี้นำพรรคเพื่อไทยและสมาชิก อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 อันทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยการที่พรรคเพื่อไทยฝ่าฝืน มาตรา 28 จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และการที่นายทักษิณ ชินวัตร ฝ่าฝืน มาตรา 29 จะมีโทษตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน และเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบสวน เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และกรุณาแจ้งผลการพิจารณาให้ข้าพเจ้าทราบด้วย
(สงวนชื่อ-นามสกุล)
ผู้ร้อง