สภาฯ มีมติ ส่งข้อสังเกตให้ศาลรธน. ตรวจสอบพฤติกรรมตุลาการ “เท้ง-ณัฐพงษ์” ชี้ ทำกระบวนยุติธรรมเสื่อมเสีย ปลุกแก้รธน. “โรม” ชี้ชะตากรรม 44 สส.เหลืออีกไม่นาน
เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาฯพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ ขององค์กรอิสระ
เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ มีผู้เสนอญัตติ 2 คน คือนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชช.) และ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.)
นายณัฐพงษ์ เสนอญัตติว่า ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่สองว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 บัญญัติว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และข้อที่ 17 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่กระทำการใดๆ ให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
แต่จากการแสดงทัศนคติบนเวทีสาธารณะของตุลาการท่านหนึ่ง ท่านคิดว่าเป็นการแสดงทัศนะคติที่เป็นกลางหรือไม่ เป็นการแสดงทัศนคติที่สาธารณชนสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคก้าวไกลไปนั้น ท่านใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่
และจรรยาบรรณวิชาชีพของคนที่เป็นตุลาการ ซึ่งมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อที่ 28 บัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาถกฐา บรรยาย สอนหรือเข้าร่วมการสัมมนา อภิปรายแสดงความคิดเห็นใดต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทียบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
คงไม่มีนักกฎหมายคนไหนที่สามารถยอมรับว่า องค์คณะผู้พิพากษา ตัดสินคดีที่ผู้ถูกพิพากษา คือ อดีตพรรคก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิ์ประหารชีวิต เป็นคนที่ถูกลงโทษโดยตรง ถูกองค์คณะแสดงความคิดเห็นเสียดสีเชิงประชดประชันแบบนี้ นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในวิชาชีพ จรรยาบรรณศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ขอให้สมาชิกเห็นชอบกับญัตตินี้ เพื่อส่งข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เรายืนยันว่าเรื่องมาตรฐานจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมควรจะต้องให้คนภายในองค์กรนั้นตรวจสอบกันเอง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติไปล่วงเกินฝ่ายอื่นๆ และสิ่งที่เราทำร่วมกันได้แน่นอน คือ การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายอดิศร เสนอญัตติว่า ตนไม่แน่ใจว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งใจพูดหรือตกกระไดพลอยโจน ในการแสดงแสดงควมคิดเห็นเหยียดยามเสียดสีบุคคล ซึ่งเคยเป็นคู่กรณีในศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เรามีสิทธิ์พูด เรากำลังทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ เรามีคดีความท่านตัดสินยุบพรรค ตัดสินประหารชีวิต นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ 5 ต่อ 4
ดังนั้น ต้องหาทางร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ แก้วิธีพิจารณาความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ต่อไป เราให้ท่านไปเป็นพระ ต้องอยู่บนหิ้ง ต้องอยู่ในธรรมวินัย ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพระ ท่านทำผิดพระวินัย ท่านปาราชิกแล้ว ซึ่งตนกล่าวหาคนเดียว ไม่ได้กล่าวหาทั้งองค์กร
ตนไม่ได้มีอคติ แต่เห็นว่าสิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งไปพูดนั้นไม่เหมาะสม ไม่ทราบว่าก่อนที่จะตัดสินคดีใดๆ ท่านเป็นกลางและมีอคติหรือไม่ แต่สิ่งที่ท่านแสดงความคิดเห็นเป็นการทำลายความยุติธรรม และที่ญัตติบอกให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าไม่ต้องส่ง เพราะพระที่ปาราชิกแล้วต้องสึก เพราะเป็นคนเดียวที่ทำให้ตุลาการขาดความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม ญัตติด่วนนี้ มีเพียงนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ชีวิตตนในทางการเมืองเหลืออีกไม่เยอะ พูดกันตรงๆ ว่า เรื่องของพวกเรามีธงไว้แล้ว ตนคือหนึ่งใน 44 คน ที่ได้เซ็นชื่อเสนอร่างกฎหมาย มาตรา 112
วันนี้ทั้งสังคมคิดไปว่าพวกตนอยู่ได้อีกไม่นาน กระบวนการของป.ป.ช. ตั้งแต่รับคำร้อง ไต่สวน ยาวไปถึงเสนอความคิดเห็น จะใช้เวลาเท่าไหร่สำหรับ 44 คน ตนไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเร็ว ตนอยากรู้ว่าถ้ามีคนไปร้องป.ป.ช.ในเรื่องแบบนี้ ป.ป.ช. จะใช้เวลาเท่าใด จะเร็วเป็นกามนิตหนุ่ม เหมือน 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลหรือไม่ หรือจะช้าเหมือนกรณีอื่นๆ
พวกเราในสภาทำอะไรได้บ้าง พวกเราคือฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้อำนาจตามที่ประชาชนไว้ใจเรามา เราคือสถาบันสุดท้ายที่กำลังปกป้องอำนาจสูงสุดของประชาชน จริยธรรมสูงสุดของพวกเรา คือ ความรับผิดชอบต่อประชาชน และประชาชนจะตัดสินใจเองว่าพวกเราควรจะอยู่ที่นี่ต่อหรือไม่ ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราต้องมีฉันทามติร่วมกัน ที่จะปล่อยให้จริยธรรมร้ายแรงของนักการเมืองที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ออกจากระบบที่เป็นมรดกของคสช.
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า จริยธรรมของนักการเมืองเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ใช้บังคับกับศาล ยืนยันแม้สภาฯ แห่งนี้ หากตัดสินใจว่าจะเอาจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากรัฐธรรมนูญหรือออกจากพ.ร.ป. ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะอยู่เหนือการตรวจสอบ ยังผูกพันกับกฎหมายต่อต้านทุจริต
หากมีนักการเมืองทุจริตเรายังมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ ใช้อำนาจบาปใหญ่ก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายต่อไป แต่ขออย่าใช้จริยธรรมร้ายแรงเลื่อนลอยเหมือนที่ผ่านมา อย่าให้อาวุธนี้ที่คสช.มอบให้จัดการนักการเมือง เราต้องช่วยกันหยุดยั้งอาวุธนี้ เพื่อำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ภายหลังนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายปิดญัตติเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวว่า จากการอภิปรายเห็นตรงกันว่าจะส่งเรื่องและข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการต่อไป และสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.25 น.