ลงใต้ 3-4 วัน ช่วง 16-19 สิงหาคม ไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพ “สุวิทย์ ทองหอม” เพื่อนรักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนรามฯ สำหรับผม “พลอยเพื่อน” คือติดรถ “สุนทร รักษ์รงค์”ไปกลับ 4 วันเต็ม บอกได้เลยว่า“เหนื่อยสุดยอด” จนถึงเวลานี้ยังไม่ฟื้นเลย
ตอนแรกก็คิดว่าจะช่วยค่าน้ำมันรถ แต่ระหว่างทางพบว่า สุนทรถูกหวยจากอายุของสุวิทย์ 67 ได้ค่าน้ำมันรถไป-กลับ
“ถ้างั้นผมไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแล้วนะ” …“พี่แมนฉวยโอกาสทันที” สุนทร กล่าว
ระหว่างนั่งรถไปต้องผ่านชุมพร นึกถึง “ไสว แสงสว่าง” หรือผู้การฯไหวแห่งธกส.ผู้จัดการธนาคารต้นไม้คนแรก จึงยกหูไปหา
“แวะร้านผมเลยนายหัว ร้านหิ้วชั้น ที่ละแม”
“พี่ไหว” กับผมมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน รู้กิตติศัพท์กันดี ครั้งผมอยู่ “คมชัดลึก” มีโครงการคนดีแทนคุณแผ่นดิน ด้วยความที่เห็นคุณงามความดี และความมุ่งมั่นตั้งใจในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านไร่ ผมจึงเสนอให้กรรมการพิจารณามอบรางวัล “คนดีแทนคุณแผ่นดิน” ให้กับ “ไสว แสงสว่าง” และคณะกรรมการเห็นชอบตามที่ผมนำเสนอ
ความสัมพันธ์ยังต่อยอดไปถึง “บ่าวหลำ แสงสว่าง” น้องชายของไสว ที่ไปปักหลักทำสวนอยู่ชุมพรเช่นกัน พร้อมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจอีก 25 ไร่ ที่ไม้โตจนใช้งานได้แล้ว แต่ยังไม่ตัดขาย ยังคงดูแลอย่างดี เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
ได้แลกเปลี่ยนกันหลายเรื่องอย่างออกรสออกชาดในวงข้าวที่เจ้าภาพเตรียมไว้รองรับ เป็นอาหารพื้นบ้าน “ผักปลอดสารพิษ” ความคิดก็บรรเจิดไปเรื่อยจินตนาการไปถึงครั้งอยู่คมชัดลึกกับการจัดประชุม จัดสัมมนา จัดเสวนามากมาย จึงเกิดความคิดว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ สังคมไทยจะมีทางออกอย่างไร จึงจะมีเวทีให้นำเสนอไหม เพื่อเป็นทางออกของสังคมไทยจากปัญหาเศรษฐกิจ คนไทยลำบากยากจนถึงจุดวิกฤต ไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่สังคมชั้นสูงกลับกำลังเสวยสุข จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เลี้ยงวันเกิดกันสนุกสนาน เห็นภาพแล้วหดหู่ใจ ระหว่างคุยกัน “สุนทร” ยกหูชวนพี่ “วิเวก อมตเวทย์” อุปนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ มานั่งแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่ง “พี่วิเวก” ก็ปักธงปลูกต้นไม้เช่นกัน และเชื่อมั่นว่า การปลูกต้นไม้ยืนต้นคือทางออกของเกษตรยั่งยืน เบื้องต้นก็ขาย “คาร์บอนเครดิต”ท่ามกลางคำถามมากมายว่าระหว่างทางจะกินอะไร แต่ “พี่วิเวก” ก็มีคำตอบอย่างน่าสนใจ
กว่าจะดีดตัวออกมาจากละแมได้ก็เกือบมืดค่ำ ถ้าไม่มีคนรออยู่ที่สุราษฏร์ก็คงจะยาว แต่พรรคพวก “จ้อย-ประดิษฐ์ จันทร์แจ่มใส” อดีตนายกฯอบต.ท่าเคย นั่งรออยู่นานแล้ว จึงต้องขอตัวจากวงสนทนากับข้อสรุปเรื่องเกษตรยั่งยืน เกษตรปลอดสารพิษ ครัวไทยสู่ครัวโลก กับแผนงานต่อไปในอนาคตกับเวทีแลกเปลี่ยนต่อไปลัดเลาะสายฝนจากสุราษฏร์ฯเข้านครศรี เที่ยงคืนถึงได้เข้านอน เช้าวันต่อมาทีมงานนัดกับโมท Pramoch Wuttimanop ซึ่งลาออกจากงานประจำ ประกาศอิสระภาพ มาทำการเกษตรพึ่งตนเองมาหลายสิบปี ทำสวนยางยั่งยืน ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง พึ่งพาธรรมชาติ และทำนาข้าวที่สุรินทร์ไว้กินเอง
“โมท” ใช้ชีวิตสัยโดดอยู่กับการทำนาและทำเกษตรผสมผสานที่นาทราย อ.เมือง นครศรีฯ แต่ยังติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างวิตกกังวลกับสถานการณ์ปัจจุบัน
แต่ “โมท” ย่างก้าวอย่างมีสติ มั่นคง และอดทน จึงค้นหาความสุขเจอ เขายังคงเป็นห่วงเป็นใยเพื่อนฝูง และให้กำลังใจทุกคนเพื่อก้าวข้ามความยากลำบาก ในสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองผันผวนเราเดินทางต่อจากนครศรีฯ เข้าสู้จังหวัดตรัง “วัดโคกหล่อ” สถานที่ตั้งศพสวดอภิธรรม “สุวิทย์ ทองหอม” อาจารย์ใหญ่ของชาวสวนยาง โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างกรีดยาง (ลูกกุลี) ที่ “สุวิทย์” ขับเคลื่อนจนถูกบรรจุอยู่ใน คำจำกัดว่าของพรบ.ยางฯว่า เป็นชาวสวนยาง
สองคืนในงานสดอภิธรรมสุวิทย์ ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย เช่น คุยกับ ดรณ์ พุ่มมาลี ตัวแทนเกษตรกรในกองทุนฟื้นฟู ได้พบปะกับกรรมการสมาคมชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น
ระหว่างเดินทางกลับ “บ่าวหลำ” โทรสวนเข้ามา “นายหัวต้องแวะสวนผมก่อนนะ ผมมีของฝาก”
ได้ครับ
แวะบ้านสวนของ “บ่าวหลำ” แกะเรียนกินสองหน่วย (ลูก) ได้แรงอก (หรอยแรง) คุยกันพอออกรสออกชาด “บ่าวหลำ” พาไปเดินชมไม้ยืนต้นที่เติบโตสูงลิบลิ่วแล้วบนพื้นที่ 25 ไร่ ร่วมหมื่นต้น “ตางค์เพพีแมน” บ่าวหลำ กล่าวอย่างภาคภูมิใจในผลงาน
ก่อนกลับ “บ่าวหลำ” ขนทุเรียนใส่รถมาอีก 9 ลูก มีทั้งหมอนทอง ชนี ก้านยาว
กลับมาก็ต้องเริ่มต้นคิด และวางแผนต่อว่าจะทำอะไรต่อไป แล้วค่อยเจอกันในวันที่ฝันเป็นจริง
#นายหัวไทร #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน #เกษตรยั่งยืน