“ดิจิทัลวอลเล็ต” วัดใจ “แพทองธาร ” ฉายภาพ4ทางเลือก เดินหน้า หรือ ล้มเลิก

ความไม่แน่นอนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหลังเปลี่ยนนายกฯ-ครม.ใหม่ทำให้เกิดข้อสงสัยในสังคมว่าโครงการนี้เดินหน้าต่อหรือไม่ เปิด 4 ฉากทัศน์ดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลมี 4 ทางเลือก เดินหน้าโครงการต่อเหมือนเดิน ลดขนาดโครงการ ชะลอ หรือยกเลิกโครงการ จับตานโยบายใหม่หากยกเลิกโครงการจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการอื่นๆเข้ามาแทนหรือไม่

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่การหาเสียง และได้ประกาศเป็นนโยบายต่อรัฐสภาที่รัฐบาลจะใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

โดยในระยะเวลาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในการทำงาน รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการนี้ทั้งในแง่ของการบริหารที่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนโครงการ ขณะที่การหาแหล่งเงินมารองรับโครงการ 4 – 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณและตั้งงบประมาณเพิ่มเติมโดยออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท โดยโครงการได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคนละทะเบียนไปแล้วประมาณ 30 ล้านคน และมีกำหนดการที่จะเริ่มใช้ในไตรมาส4 ปีนี้

อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภายหลังเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองของเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตรัฐบาลจะเดินหน้าต่อหรือไม่ หรือว่าจะยุติยกเลิกโครงการนี้ไปพร้อมกับอดีตนายกฯเศรษฐาและ ครม.ชุดที่ผ่านมา

วิเคราะห์ถึง 4 ฉากทัศน์ (Scenario) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นไปได้ต่อจากนี้ว่าจะออกมาในแนวทางใดบ้าง

1.เดินหน้าโครงการต่อไปตามเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงการ ซึ่งแนวทางนี้พรรคเพื่อไทยอาจพิจารณาว่าหากยกเลิกโครงการจะกระทบกับคะแนนนิยมในการหาเสียงในครั้งต่อไป เนื่องจากประชาชนได้มีการลงทะเบียนในโครงการนี้แล้วกว่า 30 ล้านคน และที่ผ่านมาขั้นตอนการดำเนินการในโครงการนี้ก็ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปทางรัฐ และจะเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนในช่วงเดือน ต.ค.นี้ซึ่งถือว่าโครงการเดินหน้าไปมากแล้ว

ขณะที่การเตรียมการงบประมาณก็มีความพร้อมในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาทที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ส่วนวงเงินส่วนที่เหลือก็มีการตั้งงบประมาณไว้ในปี 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท โดยตั้งงบประมาณ 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลาง และงบประมาณส่วนที่ใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท รวมทั้งมีการกันงบกลางฯในปี 2567 ไว้อีก 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากสามารถจัดการได้ก็จะมีแหล่งเงินที่เพียงพอสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

2.เดินหน้าโครงการต่อแต่ลดขนาดของโครงการลงจากเดิม ล่าสุดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้มีการกำหนดโครงการไว้ที่ 5 แสนล้านบาท และได้ปรับเปลี่ยนโครงการให้มีขนาดโครงการลดลงเหลือ 4.5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังระบุว่าตามสถิติแล้วจะมีจำนวนคนที่ลงทะเบียนในโครงการของรัฐไม่เต็มจำนวนทำให้มีการลดขนาดโครงการลงก่อนหน้านี้ 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากโครงการนี้จะเดินหน้าต่อแต่ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณและความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นก็อาจลดขนาดของโครงการลงอีก โดยอาจใช้จำนวนของผู้ลงทะเบียนในขณะนี้แล้วผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามที่กระทรวงการคลังกำหนด หรืออาจใช้จำนวนของผู้ที่จะได้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางประมาณที่มีอยู่ประมาณ 14 ล้านคน บวกกับจำนวนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนซึ่งจะมีกลุ่มเป้าหมายรวมในโครงการนี้ประมาณ 20 – 25 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการนี้ไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าเหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่แรกโดยมุ่งไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นกลุ่มเปราะบางมากกว่าแจกเงินแบบหว่านแหไปให้กับทุกคน

3.เดินหน้าโครงการต่อแต่ชะลอโครงการออกไปก่อน เป็นอีกทางเลือกของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งการชะลอโครงการออกไปจะมีประโยชน์กับรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมของระบบที่รองรับการใช้งานในโครงการโดยเฉพาะระบบการชำระเงิน (Platform Payment) และระบบ Open Loop ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในขณะนี้ ซึ่งหากชะลอโครงการออกไปแล้วมีการไปเร่งรัดส่วนที่ล่าช้าอยู่ของโครงการให้เรียบร้อยเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดในวันที่เริ่มต้นให้ประชาชนใช้เงินในการซื้อสินค้าผ่านแอปทางรัฐ ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าการเร่งรัดให้โครงการนี้เริ่มได้ในไทม์ไลน์เดิมคือภายในไตรมาส 4 ปีนี้แต่โครงการยังไม่มีความพร้อม ซึ่งจะกระทบกับการใช้งานและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อโครงการและรัฐบาลได้

และ 4.ยกเลิกโครงการ หานโยบายอื่นมาแทน ซึ่งเป็นแนวทางสุดท้ายที่เป็นไปได้ของนโยบายนี้ ซึ่งหากมีการยกเลิกก็จะตรงกับกระแสข่าวที่ว่าให้โครงการนี้ยุติลงไปพร้อมกับนายกฯคนเดิม เพราะพรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้วว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงในทางกฎหมายรออยู่ หากจะเดินหน้าต่อไปก็เสี่ยงที่จะทำให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ถูกร้องเรียนในทางกฎหมาย ทั้งนี้หากมีการยกเลิกโครงการก็จะต้องมีแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายอื่นๆรองรับ รวมทั้งต้องมีคำอธิบายที่ดีให้กับประชาชนว่าทำไมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยถึงยกเลิกนโยบายนี้

ทั้งนี้ในแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฝ่ายข้าราชการประจำเตรียมที่จะเสนอนายกฯและครม.ใหม่ หากไม่ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแนวทางหนึ่งคือการทบทวนการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ในส่วนที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ววงเงิน 1.22 แสนล้านบาท โดยจะมีการเสนอให้นำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการลงทุนโครงการในระดับเศรษฐกิจฐานรากในลักษณะโครงการที่เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19

โดยการใช้งบประมาณไปเพื่อการลงทุนโครงการในลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.5 เท่าของวงเงินที่ลงไปซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนและฐานรากได้ดีโดยเฉพาะเม็ดเงินจะไปถึงระดับผู้รับเหมารายย่อยและการจ้างงานในระดับท้องที่และชุมชน ซึ่งโครงการก่อสร้างก็จะไปช่วยหนุนการซื้อวัสดุก่อสร้าง รถปิกอัพ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นขึ้นมาได้

ขณะที่หากเป็นการแจกเงินให้กับประชาชนไปใช้จ่ายจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยกว่าโครงการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานเศรษฐกิจประเมินว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.9% ของจีดีพีเท่านั้น

คงต้องติดตามต่อไปว่าในท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร จะใช้แนวทางใดเป็นทางเลือกสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ว่าจะเดินหน้าต่อหรือยกเลิกโครงการนี้มีผลต่อการทำงานของรัฐบาลทั้งในแง่มุมของคะแนนนิยมและแง่มุมทางกฎหมายทั้งสิ้น