เปิดขั้นตอน ที่ประชุมสภาฯ โหวต “แพทองธาร” นั่งเก้าอี้ นายกฯ คนที่ 31

48

หลัง พรรคร่วมรัฐบาล มีมติสนับสนุน “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 31 ต่อจาก “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ที่พ้นตำแหน่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วยเหตุผิดจริยธรรมร้ายแรง

ต้องจับตาการโหวตเห็นชอบในที่ประชุมสภาฯ วันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.67) ว่าจะได้รับเสียงเห็นชอบเต็มจำนวนของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีทั้งสิ้น 11 พรรค ที่รวมยอดแล้วจะมี สส. 314 เสียงหรือได้มากกว่าจำนวนนั้น

ทั้งนี้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภา ออกหนังสือนัดประชุมสภาฯ วันที่ 16 ส.ค.67 เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเรื่องด่วน “พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ถือว่า “การเลือกนายกฯ” เข้าสู่ขั้นตอนปกติ คือ ให้สภาฯ โหวตเห็นชอบ ไม่มี “วุฒิสภา” เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากมาตราที่ให้อำนาจ สว.ร่วมโหวตนายกฯ นั้นสิ้นผลไปแล้ว พร้อมกับ สว.ชุดที่ 12 ที่หมดหน้าที่
ตามขั้นตอน และกระบวนการเลือก “นายกฯ” รัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเงื่อนไขกำหนดให้ “สภาฯ​” เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ และมีรายละเอียดการเลือก กำหนดไว้ ในมาตรา 159 ดังนี้

1.การเสนอชื่อ บุคคล ที่จะโหวตเห็นชอบ ต้องอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง ที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25% ของ สส.ที่มีอยู่ของสภา หรือ 25 คนขึ้นไป

2.ชื่อที่ถูกเสนอต้องมี สส.ยกมือรับรอง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ สส.ที่มีอยู่ของสภาฯ หรือ 50 คน

3.การลงมติเห็นชอบ ต้องทำโดยเปิดเผย

แม้ว่าตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ จะกำหนดวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยไว้ เป็น 3 แบบ คือ ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก แล้วให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน หรือ วิธีอื่นซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี

ทว่าการโหวตเลือกนายกฯ หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า การลงคะแนนโดยเปิดเผยนั้น เลือกใช้ “การเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัว แล้วให้ออกเสียงเป็นรายคน”
ดังนั้นเชื่อว่า สภาฯ จะใช้วิธีที่เคยใช้มาเป็นบรรทัดฐานในรอบนี้ด้วย อย่างน้อยเพื่อแสดงให้เห็นถึง “พาวเวอร์” ของพรรคเพื่อไทย และความแนบแน่นไม่แตกแถวของ “สส.พรรคร่วมรัฐบาล”

ขณะที่มติของสภาฯ ที่จะเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ สส.ที่มีอยู่ของสภาฯ ซึ่งปัจจุบัน มี สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 494 คน ดังนั้น “แพทองธาร” ต้องได้คะแนน 248 คะแนนขึ้นไป

และในเรื่องของคะแนนนั้น เมื่อ 11 พรรคร่วมรัฐบาล แสดงความสนับสนุน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย 100% จำนวนที่เป็นเกณฑ์เห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ปัญหา เพราะขณะนี้ สส.ร่วมรัฐบาล มีจำนวนรวมกันมากถึง 314 เสียง และยังไม่นับงูเห่า จาก “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ก่อนหน้านี้เคยลงมติเห็นชอบ “เศรษฐา” ถึง 16 เสียง และ บรรดาพรรคเล็ก 1 เสียง อาทิ พรรคใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่จะออกเสียงสนับสนุน

ทั้งนี้ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่า สำหรับเสียงโหวตนั้น “พรรคเพื่อไทย” ประเมินว่าอาจจะอยู่ที่ 300 ต้นๆ เพราะทราบว่ามี สส.ร่วมรัฐบาลที่อาวุโส ป่วย และไม่ได้มาร่วมโหวตด้วย

ขณะที่ประเด็นการแสดงวิสัยทัศน์นั้น “แกนนำพรรคเพื่อไทย” ระบุว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่เราจะได้เห็นโฉมหน้า “ว่าที่ นายกฯ คนใหม่” คนที่ 31 ที่สภาฯ หลังการโหวตแล้วเสร็จ เพราะ “แพทองธาร” จะเข้ามาที่สภาฯ ช่วง 10.00 น. เพื่อมาเซ็นเอกสารบางอย่างที่อยู่ในขั้นตอนของการ ทูลเกล้าฯ​ให้เป็นนายกฯ หลังจากที่สภาฯ มีมติแล้ว .