ครม.เห็นชอบตรึงราคาค่าไฟฟ้า 4.18 บาท ต่อ หน่วย จนถึงสิ้นปีและตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตร 33 บาท จนถึง 31 ต.ค. พร้อมเผยร่างกฎหมายแก้ไขโครงสร้างพลังงานใหม่
วันที่ 23 ก.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการตรึงค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ในอัตรา 3.99 บาท/หน่วย ส่วนประชาชนที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วย/เดือนขึ้นไปเรียกเก็บในอัตราคงเดิมที่ 4.18 บาท/หน่วย
โดยให้แบ่งทยอยชำระเงินคืนหนี้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นงวดๆ ต่อไป เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าการจ่ายชำระคืนหนี้ให้ กฟผ. งวดเดียว แล้วให้ประชาชนแบกภาระหนี้ด้วยการจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรึงเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 ตามความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันกำหนดไว้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.นี้
ตนไม่พอใจกลไกน้ำมันบ้านเราทุกวันนี้ ที่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เคยมีใครคิดจะแก้ไขระบบนี้ที่ใช้มานานตั้งแต่พวกท่านยังไม่เกิด ถึงขั้นตอนแรกยังไม่รู้เลยว่าต้นทุนน้ำมันเท่าไหร่ ขนาดจะขึ้นมาม่ายังต้องรู้ต้นทุน แต่นี่น้ำมันที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีกฎหมายควบคุมเลย
ตอนนี้ตนกำลังดำเนินการอยู่ โดยการร่างกฎหมายเอง แก้ไขโครงสร้างพลังงานใหม่ที่มีมาแล้วกว่า 40-50 ปี โดยกฎหมายใหม่ไม่ขัดผลประโยชน์ใคร แต่หากกฎหมายใหม่ไม่ทัน จะมีมาตรการอื่นมาแก้ปัญหาไปพรางก่อน ขณะนี้ต้นฉบับเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายตรวจสอบ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันในประเทศที่ขึ้นลงอยู่ทุกวันนี้
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงเนื้อน้ำมันของไทยอยู่ที่ประมาณ 20 บาทกว่า/ลิตร ไม่ต่างจากราคาน้ำมันในประเทศมากนัก แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงถึง 38-40 บาท/ลิตร เพราะน้ำมันของไทยมีส่วนผสมของไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งในอดีตมีราคาถูกกว่าน้ำมัน แต่ปัจจุบันทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลราคาแพงกว่าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าต่างประเทศ
ประกอบกับภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ในอัตรา 5.99 บาท/ลิตร สูงกว่าประเทศสิงโปร์ที่เรียกเก็บภาษีในอัตรา 5.54 บาท/ลิตร และประเทศเวียดนามเรียกเก็บภาษีในอัตรา 1.70 บาท/ลิตร เป็นต้น
ขณะที่ สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 14 ก.ค.2567 ติดลบ 111,855 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,252 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวติดลบ 47,603 ล้านบาท