รถไฟไทย-ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ ‘สุรพงษ์’ คาดผู้โดยสารมากกว่า 2 แสนคนต่อปี

รมช.คมนาคม ต้อนรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยว เปิดขบวนกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เที่ยวปฐมฤกษ์ มั่นใจส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งสองประเทศคาดมีผู้ใช้บริการมากกว่าปีละ 2 แสนคน สร้างรายได้มากกว่าปีละ 67 ล้านบาท

วันที่ 20 ก.ค.2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการต้อนรับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าระหว่างกัน โดยมี Mr. Saysongkham Manodham รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าร่วมพิธี ณ สถานีเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สปป.ลาว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ดีแก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อขยายการให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างไทย – สปป.ลาว ของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศได้อย่างไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ดี การผลักดันรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ครั้งนี้ ยังสอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub
ที่สำคัญของโลก ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เป็น 1 ใน 5 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศสูงสุด ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 977,000 คน สามารถสร้างร้ายได้ไม่ต่ำกว่า 36,960 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจจากการเดินทางท่องเที่ยว

สำหรับการเปิดให้บริการขบวนรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีระยะทาง 654 กิโลเมตร ได้เปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน โดยมีการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เที่ยวแรก 19 กรกฎาคม 2567 ไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีนักท่องเที่ยวและประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ตั๋วโดยสารถูกจองเต็มทุกที่นั่งในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์มาให้บริการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองเวียงจันทน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการขบวนทั้ง 4 ขบวน เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 2 แสนคน สร้างรายได้มากกว่าปีละ 67 ล้านบาท

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้านๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ โดยการจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวในด้านปฏิบัติการเดินรถ ทั้งด้านพนักงานขับรถ พนักงานสถานี พนักงานกั้นถนน พนักงานคุมประแจ พนักงานย่านสับเปลี่ยน และพนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสาร รวมถึงการตรวจสภาพทางและใช้รถอัดหินปรับปรุงสภาพทาง ตลอดจนการตรวจสอบระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเดินขบวนรถ

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี – สถานีหนองคาย – สถานีท่านาแล้ง -สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับสถานีรถไฟเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สถานีตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซยเชษฐา ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือจากท่าบกท่านาแล้งเพียง 7.5กิโลเมตร เป็นสถานีรถไฟขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1เมตร (Meter Gauge) รวมขนาดพื้นที่กว่า 1 หมื่นตารางเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น994.68 ล้านบาท นับเป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทางโครงข่ายทางรถไฟไทย – สปป.ลาว ที่มีความสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางรางระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังถือเป็นเส้นทางเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้า Logistics โดยผ่านสถานีขนถ่ายสินค้าท่านาแล้งแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า และการทำธุรกิจของเวียงจันทน์ ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคต

ท้ายนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีความมุ่งหวังว่า การเปิดเดินขบวนรถระหว่างประเทศ ไทย – สปป.ลาว ในครั้งนี้ จะเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสองประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางไว้ด้วยกัน ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค โดยขบวนรถสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อโดยรถไฟเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นเหมือนที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และ โลจิสติสก์ของภูมิภาคต่อไป