รถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าต่อ,จากมีนบุรีไปบางขุนนท์ มีการฟ้องเสียเวลาไปกว่า 4 ปี ได้เดินหน้าต่อ คาดได้ใช้ฝั่งตะวันออกในปี 71 ทั้งเส้นเปิดบริการปี 73
.
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อฝั่งตะวันออกสุดไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่แยกร่มเกล้า มีนบุรี ฝั่งตะวันออกสุดของกรุงเทพ ยาวไปถึง บางขุนนนท์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยเริ่มก่อสร้างส่วนแรกในฝั่งตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรมไปถึงมีนบุรี ตั้งแต่ปี 2560 ส่วนนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2566 มีสถานี มีราง แต่เปิดใช้ไม่ได้
.
เหตุเพราะในช่วงจังหวะที่จะเริ่มประมูลเพื่อก่อสร้างฝั่งตะวันตก คือจาก ศูนย์วัฒนธรรมไปบางขุนนนท์ เกิดมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน มีการปรับเปลี่ยน TOR ซึ่งสัญญาระบุให้เจ้าของสัมปทานเป็นเจ้าเดียวกับผู้ที่จะเดินรถทั้งเส้นของสายสีส้ม จากตะวันออกไปตะวันตก เมื่อมีการเปลี่ยน TOR ทำให้เอกชนเดินหน้าฟ้องศาล ทำให้ไม่สามารถจัดการเดินรถแม้สถานีที่สร้างเสร็จแล้วก็ตาม
.
เมื่อปี 2563 มีประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก รอบแรก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ชนะการประมูล ซึ่งเมื่อประเมินเงินที่รัฐต้องจ่ายเพื่อร่วมลงทุน เป็นจำนวน 9,675.42 ล้านบาท แต่คณะกรรมการฯ กลับเปลี่ยนเงื่อนไขใน TOR ภายหลัง ทำให้บริษัทที่ชนะประมูลรอบที่ 2 เปลี่ยนเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เพราะเมื่อประเมินเงินที่รัฐต้องจ่ายรอบนี้ มากกว่าตอน BTSC เคยประมูลชนะ ถึง 68,612.53 ล้านบาท
.
เอกชนจึงยื่นฟ้องเป็นคดีความต่อศาลปกครอง ศาลคดีทุจริต และ DSI ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป จนสถานีฝั่งตะวันออกสร้างเสร็จก็ไม่สามารถเดินรถได้
.
นอกจากนั้น เรื่องนี้มีนัยยะทางการเมือง เป็นเรื่องที่เกือบทำลายความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อฝ่ายค้านนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย แล้วพรรครัฐบาลด้วยกันเองดันไม่โหวตไว้วางใจให้ด้วย เช่น กลุ่มดาวฤกษ์ของพรรคพลังประชารัฐ
.
หรือในการประชุม ครม.นัดสุดท้าย ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภา ตอนนั้นนายศักดิ์สยาม ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในคดีอื่น รัฐมนตรีว่าการโควต้าภูมิใจไทยไม่อยู่ ก็มีรัฐมนตรีช่วยโควต้าพลังประชารัฐ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ พยายามดันเรื่องนี้เท่าที่ประชุม ครม. แต่ด้วยกลเม็ดการเมือง สุดท้าย ครม.ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ในตอนนั้น ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่ามีเงินทอนก้อนโตรออยู่ แต่เรื่องนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้
.
กระทั่งตอนนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินยกฟ้องในคดีว่าการเปลี่ยน TOR ในตอนนั้นไม่ผิด ทำให้การประมูลที่ BEM ชนะ ไม่เป็นโมฆะ แล้ว ครม.เศรษฐา ก็มีมติไฟเขียว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม คาดว่า จะเริ่มเดินรถสายสีส้มฝั่งตะวันออกได้ราวเดือนมกราคม ปี 2571 และเปิดใช้งานได้ทั้งเส้นในปี 2573
.
อุปสรรคดังกล่าว ทำให้เราได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 3 ปี รฟม. ประเมินค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายที่เสียจากความล่าช้า สูงถึง 43,000 ล้านบาทต่อปี รวมเวลา 3 ปี ราว 1.3 แสนล้านบาท ไม่นับรวมที่รัฐต้องจ่ายแพงขึ้นอีก 6 หมื่นกว่าล้านเพื่อร่วมลงทุน จากการเปลี่ยนบริษัทชนะประมูล
.
ของทำเสร็จแล้วก็ใช้ไม่ได้ แถมทำไปทำมาจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิม แม้เรื่องนี้ศาลจะชี้ว่าไม่ผิด แต่คนที่เสียโอกาสที่สุดคือพวกเราคนไทยทุกคน
Cr.SPRiNG