นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม ชี้ นายกฯ เสี่ยงผิดม.157 ปมเสนอชื่อ “บิ๊กต่อ” ที่มีอาวุโสอยู่ในลำดับท้ายสุด แซงหน้า “บิ๊กโจ๊ก” อาวุโสอันดับ1 เป็นผบ.ตร.
วันที่ 5 ก.ค.2567 พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และ ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต เปิดเผยถึงกรณี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ยื่นร้องเรียน ต่อ ป.ป.ช. เอาผิด ม.157 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. ว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับปัจจุบันกำหนดว่าการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องพิจารณาถึงเรื่องของอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน ทั้ง ด้านการสืบสวนสอบสวน การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม
ซึ่งกฎหมายโดยปกติจะไม่เขียนละเอียดว่า ต้องคิดเป็นคะแนนสัดส่วนเท่าใด เพียงแต่ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องออกแบบ กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน แน่นอนว่า ณ ขณะนั้นเรารับทราบตรงกันว่า ผบ.ตร. ท่านปัจจุบัน คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีอาวุโสลำดับสุดท้าย ซึ่งหมายความว่า นายกฯ ต้องมีคำอธิบายเมื่อถามต่อว่า ขั้นตอนแรกต้องหยิบชื่อขึ้นมาพิจารณาก่อน และต้องชัดเจนตั้งแต่ระดับการหยิบชื่อใครขึ้นมาแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า บางครั้งมักจะได้ยินนายกฯให้ก.ตร. พิจารณา แต่กฎหมายเขียนว่าเป็นอำนาจนายกฯ ในการเสนอชื่อ นั่นหมายความว่า จุดเริ่มต้น คือ นายกฯ หยิบเสนอชื่อ แล้วถึงจะนำเข้า ก.ตร. ให้พิจารณาร่วมกัน
ต่อข้อถามต่อว่า นายกฯ เสนอชื่อเพียงคนเดียวใช่หรือไม่ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ใช่ อย่างที่ทราบตามข่าวว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งอาจจะมีคนไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่รับรอง ดังนั้น ก็ต้องมารับฟังคณะกรรมการ ก.ตร. แต่ละท่าน มีเหตุผลใดถึงยินยอมที่จะสนับสนุนรายชื่อตามที่นายกฯ เสนอมา จนกระทั่งเป็นข่าวไปว่ามีดีลลับ เพราะแน่นอนสังคมตั้งคำถามไม่ได้ จะมีดีลลับหรือไม่ลับ เราก็ไม่ทราบ
ส่วนเหตุผลที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับไปฟ้องนายกฯคดีนี้ นายกฯให้เหตุผลว่าตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้ดี เหตุผลแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามหลักการหรือว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยกประเด็นนี้เข้ามาร้อง น้ำหนักที่ไปถึง ป.ป.ช. จะอยู่ในระดับใด พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ที่พิจารณารับทราบตรงกันว่า ที่ผ่านมาพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอาวุโสลำดับสูงกว่า ผบ.ตร.คนปัจจุบัน แน่นอนพล.ต.อ.สุรฌชษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่เสียสิทธิ สามารถดำเนินการได้
และส่วนที่กล่าวว่าดำเนินการแล้ว ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. แล้ว จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ตนว่าน่าติดตาม เพราะตรงนี้ต้องมีการชี้แจง แล้วต่อไปต้องมีการเรียกผลการพิจารณา รายงานการประชุมต่างๆ มาประกอบการไต่สวน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยเมื่อถามว่า ต้องมีความชัดเจนว่า ที่ไม่หยิบเบอร์หนึ่ง แต่หยิบเบอร์สุดท้ายมา มีผลงานใดโดดเด่น พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ เป็นรื่องของหลักคุณธรรม ไม่ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ มองข้ามหลักคุณธรรม
ส่วนกฎหมายเปิดให้ไม่ต้องใช้อาวุโสก็ได้ใช่หรือไม่ อาวุโสบวกกับความรู้ความสามารถ กฎหมายระบุเช่นนี้ควบคู่กันไป เหมือนให้อำนาจกับนายกฯ ในระดับไม่น้อย พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า กฎหมายแปลกอยู่อย่างว่า ใช้หลักอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน แต่กฎหมาย ก็ไม่ได้เขียนว่าคนที่จะได้ถึงอาวุโสตอนนี้ มีที่มาอย่างไร แต่เมื่อวันหนึ่งเป็นรอง ผบ.ตร. และกลายเป็นผู้อาวุโส ก็มาดูว่าใครก่อนหลังเท่านั้น ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้เช่นนี้ เวลาดูอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน คราวนี้ต้องแบ่งสัดส่วน เช่น อาวุโสจะคิดเป็นสัดส่วนเท่าใด ความรู้ความสามารถคิดเป็นเท่าใด
แต่ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ คะแนนประเมินประจำตัว ตั้งแต่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือจบโรงเรียนนายสิบตำรวจ บรรจุทำงานครั้งแรก ต้องมีคะแนนประเมินประจำตัว เช่น เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตำรวจนายนี้มีคะแนนประจำตัวประเมินอย่างไรบ้าง ถ้าเรามีคะแนนประจำตัวติดตัวเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเข้ามาเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเราก็จะบอกได้ว่าตำรวจนายนี้เก่งด้านสืบสวนสอบสวน ด้านป้องกันการปราบปราม เพราะคะแนนย้อนกลับไป20 ปีที่ผ่านมา ตำรวจนายนี้ได้เกรด A มาตลอดในด้านการสืบสวน แต่เมื่อตรงนี้ไม่มี ไม่เคยออกแบบ และปัจจุบันไม่แน่ใจว่าจะมีการออกแบบหรือไม่ ทำให้การใช้ดุลยพินิจมีปัญหา
เมื่อถามต่อว่า หากให้คะแนนกันกันในวันนี้ วันที่จะต้องเลือกใครสักคนมาให้คะแนน สิ่งนี้ก็จะไม่สะท้อนเนื้องานที่ผ่านมาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ใช่ ประกอบกับนายกฯ ก็มาจากนักธุรกิจ ซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ค่อยรับรู้เรื่องตำรวจก็ได้ว่าตำรวจวุ่นวายกันอย่างไร เพราะนายกฯทำธุรกิจ ต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมาอยู่ในตำแหน่งต้องพิจารณา คำถาม คือ แล้วนายกฯจะดูจากอะไร เพราะต้องใช้ดุลยพินิจในการหยิบเสนอชื่อคน คนๆหนึ่ง ถ้าเราอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องๆ หนึ่ง
เมื่อถามต่อว่า ประเมินน้ำหนักอย่างไรว่า นายกฯ จะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่าต้องขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาเป็นใครด้วย หากคนทำงานคณะกรรมการที่พิจารณาแบบตรงไปตรงมา ต้องยอมรับว่านายกฯก็มีความเสี่ยงในการที่ต้องอธิบายประเด็นเหล่านี้
เมื่อถามว่า แนวทางที่จะออกมา ออกมาได้กี่แนวทาง พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่าแนวทางแรก อาจมองว่ามีการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาอย่างรอบคอบสอดคล้องตามกฎหมาย สองคือมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน และไม่ได้มีการกำหนดไว้โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นผู้ใช้ดุลยพินิจในการคัดเลือกอาจจจะขาดเจตนาก็ได้ พูดง่ายๆคือ ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนกว้างๆว่าอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงทำให้ผู้ใช้ดุลยพินิจอาจจะขาดเจตนา เพราะหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน
หรือ สามหลักฐานในการให้คะแนน สมมติว่า วันนั้นมีการถกเถียง มีคนแย้งไว้ ก็มีการเรียกรายงานการประชุม ณ วันนั้นมาว่า มีแย้งไว้ในประเด็นนี้ แล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อกฎหมาย เช่น แย้งไว้ว่าถ้ามีการแต่งตั้งเช่นนี้อาจจะมีความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายได้ เพราะว่ามีการข้ามอาวุโสไป แล้วปัจจุบันความรู้ความสามารถที่กล่าวว่า ด้านสืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปรามยังไม่ชัดเจน ฉะนั้นคะแนนตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ตรงนี้ก็เริ่มหมิ่นเหม่แล้วเรื่องการใช้ดุลยพินิจ
เมื่อถามว่า ต้องพิสูจน์ลึกถึงขั้นว่านายกฯ มีเจตนาทุจริตหรือไม่สุจริตหรือไม่ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ประเด็นแรกต้องดูว่าผู้ร้อง ยื่นคำร้องตามความผิดฐานใด เช่น ผิดตามม. 157 หรือไม่ ทำหน้าที่โดยมิชอบ หรือ มีเจตนาที่ไม่สุจริตในการให้ความสนใจ นี่เป็นเรื่องยากที่ต้องพิสูจน์ ถ้าเป็นไปตามนี้จริง ฉะนั้นสิ่งที่คุยมาทั้งหมด จะเป็นเครื่องบ่งบอกได้ว่าตกลงที่นายกฯ ตัดสินใจ อยู่บนพื้นฐานอะไร และมีเจตนาโดยสุจริตหรือไม่