“บิ๊กเกรียง-มงคล” มาแรงชิง ปธ.วุฒิสภา สนง.เลขาฯ พร้อมรับรายงานตัว สว.ใหม่

32

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เตรียมพร้อมสถานที่รับรายงานตัว 200 ส.ว. แล้ว ขณะที่ “บิ๊กเกรียง-มงคล สุระสัจจะ” มาแรงแคนดิเดตนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา

วันที่ 5 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องของผู้สมัคร ส.ว. ในการเลือกส.ว.ที่ผ่านมา ก่อนประกาศรับรองผู้ได้รับเลือกทั้ง 200 คน ในช่วงสัปดาห์หน้า โดยหลังจากกกต. ประกาศรับรอง 200 ส.ว. และ บัญชีสำรอง 100 คน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ส.ว.ทั้ง 200 คน ต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อรับบัตรประจำตัวของการเป็น ส.ว. รวมถึงเอกสารและคู่มือการปฏิบัติหน้าที่เป็นส.ว.ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการเข้ารายงานตัวของ 200 ส.ว.ชุดใหม่แล้ว ที่ห้องริมน้ำ ชั้น 1 อาคารวุฒิสภา และพร้อมรับการรายงานตัวได้ในวันถัดไปจากที่ กกต. ประกาศรับรอง ทั้งนี้ในการจัดเตรียมห้องรับรายงานตัว รวมถึงห้องรับรอง ส.ว.ชุดใหม่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ทางสำนักงานเลขาธิการ นำป้าย “ห้ามเข้า” ติดไว้ที่ประตูทางเข้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเปิดรับรายงานตัว ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ จนกว่า ส.ว.จะเข้ารายงานตัวจนครบ 200 คน จากนั้นจะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ส.ว. 200 คนกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นวาระการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ซึ่งมีผู้ที่คาดว่าจะเป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภา 2 รายคือ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่4 และ นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะว่าที่ส.ว.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง

นอกจากนี้อาจมีประเด็นที่เป็นข้อหารือที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารายงานเป็นวาระสำคัญ เช่น การตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่ส.ว.ชุดที่ผ่านมาได้ ตั้งคณะทำงานไว้แล้ว เพื่อให้เกิดการทำงานที่สานต่อและต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งกรรมการเพื่อศึกษาร่างกฎหมายที่เป็นคู่ขนานกับ สภาฯ เช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว.ชุดใหม่ 200 คนนั้น นับเป็นส.ว.ชุดที่ 13 ของการเมืองไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ต้องจับตาการทำงานของ ส.ว.ชุดใหม่ ที่ถูกมองว่ามาจากสายบ้านใหญ่ ที่เป็นเครือข่ายนักการเมือง อย่างไรก็ตามในมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยว่า สว.ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด