“อนุทิน”ไม่เสี่ยง!ปม“ชาญ”ว่าที่นายก อบจ.ปทุมฯมีคดีค้าง แนะให้ยึด ก.ม.ลั่นอย่าให้ถึง มท.ปลดออกลูกเดียว ไม่เว้นแม้คนของเพื่อไทย-พรรคร่วม-เพื่อนพ้อง “ชูศักดิ์”รองหน.เพื่อไทย ปธ.คณะทำงาน ก.ม.ชี้เมื่อศาลฯประทับรับฟ้องแล้ว ต้องสั่งให้ “ชาญ” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่อำนาจ‘มท.
วันที่ 3 ก.ค.2567 เวลา 15.30 น.ที่ สำนักงาน กอ.รมน. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)กล่าวถึงกรณีนายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ชนะการเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี จะขัดกฎหมายตามมาตรา 157 หรือไม่ เนื่องจากมีคดีคั่งค้าง โดยกล่าวว่า รับรองว่า ตนไม่เสี่ยงตัวเองแน่นอน ทุกอย่างมีข้อกฎหมาย ในความเป็นส่วนราชการ เราต้องทำตามข้อเสนอแนะของเลขาฯกฤษฎีกา ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก็ได้รับรายงานมาในระดับหนึ่ง คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้น คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีแนวทางในการดำเนินการ มีขั้นตอนอยู่แล้ว
“และหากผู้ว่าราชการจังหวัด มีข้อสั่งการใดออกมา และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตาม ผู้ว่าราชการจังหวัด จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้มีคำสั่ง ซึ่งหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีเพียงสั่งปลดอย่างเดียว เราอย่าไปให้ถึงจุดนั้นเลย เพราะผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขอให้ทุกท่าน ได้ทำตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องใช้มาตรการอะไร” นายอนุทิน กล่าว และย้ำว่า ตนไม่รู้สึกหนักใจอะไร แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย หรือต่อให้เป็นพรรคเดียวกันก็แล้วแต่ ทำผิดกฎหมาย เพื่อเอื้อพรรคพวกเพื่อนพ้องไม่ได้ เพราะมีโทษทางอาญา เราคงไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายไม่ได้
ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย(พท.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานี ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตและศาลรับฟ้องแล้วจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ว่า ในความเห็นตนคิดว่า เรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นเรื่องของมติทั่วไป คนที่พ้นจากตำแหน่ง และกลับมามีตำแหน่ง แล้วมีคดีแบบนี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อันนั้น คือ คดีทั่วไป
“แต่ในกรณีของนายชาญ ความเห็นของผมคือ มีคำร้องที่ศาลอาญาทุจริตแล้ว ซึ่งศาลมีอำนาจในการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อมีคำร้องไปที่ศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ศาลต้องสั่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครที่จะสั่ง ทั้งนี้ เรื่องไปที่ศาลแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว และศาลมีอำนาจทางกฎหมาย ในการที่จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ ควรจะเป็นไปตามแนวนี้ “นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว นายชูศักดิ์ ตอบว่า “ความเห็นของตน คือ ถามว่าใครเป็นโจทก์ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ก็ควรร้องเข้าไป ถ้าต้องการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเรื่องไปถึงศาล ศาลก็ต้องใช้ดุลยพินิจว่าจะให้หยุด หรือไม่ไม่ให้หยุด ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทย”