“สรรเพชญ” ฉะ ยับ! พรบ.งบฯ68 หวังผลทางการเมือง กู้สูงสุดในประวัติศาสตร์

19

“สรรเพชญ” ฉะ รัฐบาลกู้จนหัวแบะ ทำโครงการ แจกเงิน”ดิจิทัลวอลเล็ต” หวังผลทางการเมือง ประเทศเสียหายอย่างไรไม่ว่า ขอให้ได้หาเสียงเป็นพอ พร้อมคืนฉายา “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ให้รับไปเต็มๆ

วันที่ 19 มิ.ย. 2567 เวลา16.40 น. ที่รัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้อภิปรายข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระแรก ว่า งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการสะท้อนถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยตนมีความเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายที่พิจารณาในวันนี้ รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการจัดสรรงบประมาณไม่เหมือนกับงบประมาณฉบับที่ผ่านมา สิ่งที่ตนเห็น คือ รัฐบาลมีความพยายามที่จะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา และ เป็นการทำงบประมาณแบบไม่รับผิดชอบ ประเทศจะเสียหายอย่างไรไม่เคยคิดรับผิดชอบ ขอให้ได้หาเสียงเป็นพอ

อีกทั้งเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นฝ่ายค้าน ก็เคยให้ฉายารัฐบาลว่า “เป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” แต่พอพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล กลับกู้เงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะพาประเทศลงเหว โดย ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สูงถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลจะกู้เพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึก ตามที่ตนได้เคยอภิปรายไว้ในสภาตนไม่ติดใจ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ คือ “รัฐบาลจะกู้เงินเพื่อมาแจก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

นายสรรเพชญ กล่าวว่า สัญญาณเตือนเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นสิ่งที่รัฐบาล จะต้องหาแนวทางในการแก้ไข เพราะปัจจุบันแม้จะมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 70% แต่ในปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 67.9% แล้ว จึงมีความเป็นห่วงว่า ปีงบประมาณหน้าอาจจะอยู่ที่ 69.9% เพราะจากสถิติของปี 2564 – 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นปีละ 2% ซึ่งในสากลมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 60% หากส่วนนี้ เกินแสดงว่า รัฐบาลกำลังใช้จ่ายเกินตัว จึงเป็นสัญญาณเตือนแรกที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของสัดส่วน การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ซึ่งตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานไม่ควรเกิน 3% กำลังสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังใช้จ่ายเกินตัว เป็นการกู้ชดเชยการขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งเรื่องการจัดเก็บรายได้ก็มีความน่าเป็นห่วงที่จะจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้ต้องกู้ชดเชยเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้นขอตั้งคำถามว่า ข่าวหนาหู ที่ กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะไปออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังไม่เคยออกมาแถลงเพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ เห็นว่า หากรัฐบาลจะออกพันธบัตรเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะหลักการที่สำคัญ คือ รัฐบาลควรก่อหนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าใช้จ่ายในงบประมาณ

นอกจากนี้ในเรื่องของ Digital Wallet ที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่ได้สอดไส้งบประมาณไว้ในรายจ่ายงบกลางกว่า 152,700 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณที่เหลือรัฐบาลต้องไปเบียดบังมาจากงบประมาณปี 2567 และรีดนาทาเร้นให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการไปก่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาภาระงบประมาณกึ่งการคลังในอนาคต

นายสรรเพชญ อภิปราย ตอนท้ายว่า รายการขอของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนสูงถึง 6.5 ล้านล้านบาท แต่ต้องมีการตัดทอนไปถึง 2.8 ล้านล้านบาท ทำให้โครงการดี ๆ ของส่วนงานต่าง ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่กลับไปใช้ในโครงการที่หวังผลทางการเมือง อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้มีทรัพยากร หรือ เงินมากมาย ที่จะให้รัฐบาลทำโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หรือที่เรียกว่ากู้ไปผลาญ รัฐบาลจึงควรนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาคนให้พร้อมต่อการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะดีกว่า