การประมูลข้าวค้างสต๊อก 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตันใน โครงการรับจำนำข้าว สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เก็บที่คลังสินค้ากลางกิตติชัย (หลัง 2) และคลังสินค้า บริษัท พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด (หลัง 4) จ.สุรินทร์ เดินทางมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
หลังจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นซองคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมยื่นประมูลทั้งสิ้น 8 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงสี และผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญจากจังหวัดต่างๆ เช่น กำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี เป็นต้น
โดยผู้สนใจยื่นซองเอกสารคุณสมบัติการเข้าร่วมประมูลจำนวน 8 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร
2.บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท
3.หจก.อุบลไบโอเกษตร จังหวัดอุบลราชธานี
4.บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด(มหาชน) จังหวัดอุบลราชธานี
5. บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อา.การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์
6. บริษัท ทรัพย์แสงทอง สุพรรณบุรี
7. บริษัท สหธัญ จังหวัดนครปฐม
8. บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์
สำหรับข้าวที่อคส. เปิดประมูลทั่วไปจำนวน 15,000 ตันโครงการรับจำนำปี 2556/57แบบยกโกดัง 2 โกดัง คือ คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100 %) ปริมาณ 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบ และ คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณ 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ
หลังจากอคส.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร่วมยื่นประมูลและประกาศ ผลปรากฏว่า มีเพียง 7 บริษัทที่ผ่านคุณสมบัติได้ยื่นซองเข้าประมูล ส่วนอีก 1 บริษัทคือ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด(มหาชน) จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ผ่านคุณสมบัติ เนื่องจากขาดเอกสารสำเนาหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ตาม พ.ร.บ. ค้าข้าว พ.ศ. 2489 ที่ออกโดยกรมการค้าภายใน จากนั้น ดีเดย์ วันที่ 17 มิ.ย.จะเปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติยื่นซองเสนอราคา และเปิดซองวันเดียวกัน ก่อนประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลวันที่ 21 มิ.ย.นี้
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าการประมูลครั้งนี้ไม่กระทบกับราคาข้าวในตลาด เพราะเป็นข้าวคนละส่วนกัน ราคาข้าวในตลาดขึ้นอยู่กับระบบอุปสงค์และอุปทาน และข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ตลาดไหนก็มีความต้องการ ซึ่งข้าวที่เรานำมาประมูลมีเพียง 15,000 ตันและชัดเจนว่าประมูลล็อตนี้ออกไปจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไม่กระทบกับปริมาณข้าวในประเทศทั้งหมดเรามีหลายล้านตั
สำหรับผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ก็ถือว่ามาก ส่วนราคาประมูล จะได้ 15 บาทตามราคาในใจหรือไม่ ไม่ขอพูด เพราะตนไม่ใช่ผู้เข้าร่วมประมูล แต่เชื่อว่าข้าวมีคุณภาพพอที่จะประมูลได้ในราคาที่ดีกว่าเดิมแน่นอน
ทั้งนี้คนในวงการค้าข้าว มองการประมูลข้าว 10 ปีในครั้งนี้ว่า การเสนอราคาประมูลข้าว น่าจะได้กิโลกรัมละ 12-13 บาท เพราะแม้ลักษณะทางกายภาพยังดีอยู่ แต่ผู้ชนะการประมูลต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ต่ำกว่าตันละ 2,500 บาท หรือกก.ละ 2.5 บาท
ตั้งแต่ค่ากรรมกรขนข้าวขึ้นรถบรรทุกออกจากโกดังที่จ.สุรินทร์ และ ขนออกจากรถเมื่อถึงสถานที่ปลายทาง ค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ค่าดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะขายได้ หรือส่งออก โดยข้าวล็อตนี้ ถ้าจะนำไปส่งออก น่าจะมีเพียงตลาดแอฟริกาเท่านั้น เพราะบริโภคข้าวเก่า
แต่..ประเด็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า ข้าวล็อตนี้ที่ได้รับการประมูลออกจากคลังไปแล้ว จะถูกส่งออกไปจำหน่ายในตลาดแอฟริกาตามที่เป็นข่าวหรือจะวนเวียนอยู่ในตลาดไทย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนคงวางใจได้ไม่สนิทนัก