สถานการณ์เดือด การเมืองร้อน ปมดีลลับไม่ลงตัว “จันทร์ส่องหล้า-บ้านป่ารอยต่อฯ”

ประเด็นร้อนทางการเมือง ที่กำลังเกิดขึ้นวันที่ 18 มิ.ย.67 นี้ มี นักวิเคราะห์การเมือง สรุปฟันธง สาเหตุหลักมาจาก “ดีลลับ ลังกาวี” ไม่ลงตัว พุ่งเป้าไปที่ปมขัดแย้งระหว่าง “บ้านป่ารอยต่อ” ที่มี “บิ๊ก้ปอม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็น เจ้าของ กับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” แม้เจ้าตัวจะระบุว่า

“…ผมไม่ได้ดีลกับใครเลย ไม่เกี่ยวกับดีล ไม่มีอะไรเลย ไม่ไปตามนัด ไม่เกี่ยวจริงๆ หากจะมีคนวุ่นวายก็แถวบ้านในป่านั้นแหละ แต่ไม่เกี่ยวกับผม ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล…”

เป็นการตอบคำถามสื่อ กรณี “ทักษิณ” ไม่ได้เดินทางไปพบอัยการสูงสุด เมื่อ 29 พ.ค.67 เพื่อรับข้อกล่าวหาของ อัยการสูงสุด ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือ แสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินีและรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปมให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ที่ เกาหลีใต้ฟังดูเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยตรงกับคำถาม และแม้ว่า “ทักษิณ” จะไม่ยอมรับตรงๆ ว่าหมายถึง “บิ๊กป้อม” หรือคนในรัฐบาลทั้ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงรัฐมนตรีหลายคน จะพยายามปฏิเสธว่า “คิดกันไปเอง”

แต่หากไม่หลอกตัวเอง ต่างก็รู้ดีว่า หมายถึง “บิ๊กป้อม” ผู้มีฐานบัญชาการอยู่ในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ ที่ตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต หรือที่ถูกเรียกว่า “บ้านป่ารอยต่อ”

จนมีการพูดกันว่า “ทักษิณ” นายใหญ่รัฐบาล แห่ง จันทร์ส่องหล้า ส่งสารท้ารบ “บิ๊กป้อม” นายใหญ่บ้านป่ารอยต่อเต็มตัว

แม้ว่า มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ จะมีบทบาทและกิจกรรม ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าตามวัตถุประสงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุค คสช. ครองอำนาจ ต้องยอมรับว่า “บ้านป่ารอยต่อ” มีบทบาทและถูกกล่าวถึงในแง่ “การเมือง-ผลประโยชน์” มากกว่า

“บ้านป่ารอยต่อ” กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักการเมือง-ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ-นักธุรกิจ จนเครือข่าย “ป่ารอยต่อฯ” ขยายตัวอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับอำนาจ-บารมีของ “บิ๊กป้อม”หากจำกันได้ปฏิบัติการสกัดการเลือก “เศรษฐา” เป็นนายกฯ เมื่อช่วงเดือน ส.ค.66 โดยสมาชิกวุฒิสภา ที่ใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” มีการก่อหวอด ณ บ้านป่ารอยต่อแห่งนี้

เช่นเดียวกับกรณี “40 สว.” ยื่นให้ตีความสถานะรัฐมนตรีของ “เศรษฐา” กรณีแต่งตั้ง “ทนายถุงขนม” พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีที่มาจาก “สว.สายบิ๊กป้อม” เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” เคยพูดทำนองว่า รู้หมดว่า ใครอยู่เบื้องหลังกลุ่ม 40 สว. และออกตัวว่า แก่แล้ว คงไม่มีปัญญาไปเช็กบิลใคร และขอให้ต่างคนต่างอยู่

เอาเข้าจริง ในอดีต ทั้ง “ทักษิณ-บิ๊กป้อม” ต่างก็มีความสัมพันธ์ในระดับแนบแน่น โดยเส้นทางราชการทหารของ “พล.อ.ประวิตร” ก็เติบโตจนมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2547-2548 ก็เป็นสมัยที่ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งหลังการรัฐประหาร พ.ค.2557 ก็มีความเชื่อลึกๆ ว่า “พล.อ.ประวิตร” ในฐานะประธานที่ปรึกษา คสช. และรองนายกฯ ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการประสานระหว่าง “รัฐบาล คสช.” กับ “ระบอบทักษิณ” ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” ที่มีออกมาเนืองๆ

ทั้งระหว่าง “พล.อ.ประวิตร” กับ “ทักษิณ” เอง หรือโดยเฉพาะระหว่างคนใกล้ชิดของ “พล.อ.ประวิตร” กับ “นายหญิงเพื่อไทย” คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยานายทักษิณแต่แล้วความยิ่งใหญ่อย่างก้าวกระโดดของ “บ้านป่ารอยต่อ” ที่ขึ้นมาแทนที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ในช่วงกว่า 10 ปีนับจากรัฐประหาร 2557 ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของ “ทักษิณ-บิ๊กป้อม” ขาดสะบั้นไปโดยปริยาย

หลายครั้งก็มีความเชื่อลึกๆ ว่า “พล.อ.ประวิตร” ที่ถูกสถาปนาเป็น “พี่ใหญ่ คสช.” มีอำนาจ-บารมี ทั้งในทางการเมือง-การทหาร-การตำรวจ รวมไปถึง สว.บางส่วน หรือ องค์กรอิสระ โดยเฉพาะ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่เบื้องหลังในการเล่นงาน “ระบอบทักษิณ”

กระทั่งช่วงปี 2561 ได้เคยมีวิวาทะข้ามโลก หลัง “พล.อ.ประวิตร” ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีที่ “ทักษิณ” โพสต์ข้อความครบ 12 ปีที่ถูกรัฐประหาร โดยระบุว่า “ที่บ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะใคร แต่ไม่ใช่คสช.แน่นอน เพราะพวกเราไม่ได้เกี่ยวข้อง เราออกมาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ ส่วนที่นายทักษิณ ระบุพร้อมพูดคุยปรองดองนั้น เขายังมีเรื่องที่ทำผิดกฎหมายอยู่ ขอให้ไปเคลียร์ตรงนั้นให้ได้ก่อน”

ทำให้ “ทักษิณ” โพสต์ข้อความโต้กลับว่า “ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.เลย”

ท ความเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายป่ารอยต่อ” ระยะหลัง ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะ “พล.อ.ประวิตร” ในวัย 78 ปี ยังไม่คิดที่จะวางมือทางการเมือง และยังคงมีความหวังลึกๆ กับการได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้ “เศรษฐา” พ้นตำแหน่งนายกฯ จากคำร้องของ 40 สว.

และถึงแม้ “เครือข่ายป่ารอยต่อ” จะไม่ได้เบ่งบานเหมือนเช่นในช่วงรัฐบาล คสช. หรือ หลังเลือกตั้งปี 2562 แต่ก็ยังพอมีฤทธิ์เดชในการเขย่าเกมทางการเมืองได้

แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ “เศรษฐา” ได้ไปต่อ ก็จะมีคิวในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทดแทนเพียง 2 ตำแหน่งที่มีผู้ลาออกไป ถึงวันนั้น พรรคพลังประชารัฐ ก็อาจถูกปรับออก และต้องเปลี่ยนสถานะไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ดี มีการคะเนกันว่า หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นจริง ก็ถึงคราวที่ พรรคพลังประชารัฐ จะต้องแตกเป็น 2 กอ ส่วนหนึ่งยังคงต้องติดตาม “ลุงป้อม” ในฐานะ “ผู้มีพระคุณ” ขณะที่อีกส่วนหรือที่เรียกกันว่า “ก๊วนผู้กอง” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะยังอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทย

ด้วยมีการจับตามาตลอดว่า ระยะหลัง “ธรรมนัส” ซึ่งเป็นอดีตคนเพื่อไทย เอาใจออกห่าง “ลุงป้อม” และพร้อมที่จะคืนถิ่นเก่า พรรคเพื่อไทย ได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะภายหลังที่ “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ มักพบเห็น “ธรรมนัส” ไปติดสอยห้อยตามลงพื้นที่อยู่บ่อยๆ

เมื่อสำรวจตรวจแถว สส.ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐที่มีรวม 40 ชีวิต แบ่งเป็น 39 สส.เขต อีก 1 เป็น สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งก็คือ “พล.อ.ประวิตร” เอง ก็พบว่าสังกัด “ซุ้มป่ารอยต่อ-ซุ้มผู้กอง” มีจำนวนพอกัน แบบครึ่งๆโดย “ส่วนใหญ่” ยังเหนียวแน่นกับ “ซุ้มป่ารอยต่อ” ประกอบด้วย กลุ่มเพชรบูรณ์ของ “สันติ พร้อมพัฒน์” กลุ่มกำแพงเพชรของ “วราเทพ รัตนากร” กลุ่มสระแก้วของ “ตรีนุช เทียนทอง” กลุ่มสิงห์บุรี ของ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” และกลุ่มสระบุรีของ “องอาจ วงศ์ประยูร” เป็นต้น

ขณะที่มีการประเมินว่า สส.ที่อยู่ใน “ซุ้มผู้กอง” ราว 18 ชีวิต และ คาดว่า จะมากขึ้นหากถึงขั้นถึงทางแยกต้องเลือกสถานะฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน

เอาว่า การแสดงอิทธิฤทธิ์เฮือกสุดท้ายของ “บ้านป่ารอยต่อ” ในวันที่อำนาจ-บริวานในมือใกล้หมดอายุ ไม่เพียงทำให้ “ลุงป้อม” ห่างไกลจากความฝันได้นั่งเก้าอี้นายกฯมากขึ้นแล้ว ยังจะนำไปสู่การปิดตำนาน พรรคพลังประชารัฐ เร็วกว่าที่คิด หากถูกอัปเปหิจากรัฐบาลจริง

ในทางกลับกัน เส้นทางของ “ทักษิณ” ที่วันนี้กลายเป็น “ศูนย์กลางอำนาจตัวจริง“ และนำ ”บ้านจันทร์ส่องหล้า” ชิงอำนาจคืนจาก “บ้านป่ารอยต่อ” ได้สำเร็จ ก็ใช่จะสดใสซะทีเดียว

เพราะทั้งในส่วนของรัฐบาลที่ว่ากันว่ามี “ซูเปอร์ดีล” ก็เห็นแล้วว่า ยังต้องเผชิญกับ “ภัยแทรกซ้อน” จาก ”ขั้วอำนาจเก่า” อยู่ และเชื่อว่าจะมีสภาพเช่นนี้ไปตลอดช่วงอายุรัฐบาล ด้วยลึกๆ แล้วยังไม่สามารถทำให้เกิด “ความไว้วางใจ” ได้เต็ม 100%

โดยเฉพาะปัจจัยที่ยังอยู่เหนือการควบคุมอย่าง “องค์กรอิสระ” หรือหลายๆ หน่วยงาน ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ยังไม่สามารถเข้าไป “คอนโทรล” ได้เหมือนในยุค “ระบอบชินวัตร” เบ่งบานสูงสุดขณะเดียวกันในทางส่วนตัว “นายใหญ่” เองก็ถือว่า “ไม่มั่นคง” มากนัก โดยเฉพาะการถูกคำสั่ง อัยการสูงสุด ฟ้องทุกข้อกล่าวหา ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินีและรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เห็นได้ชัดว่า “ทักษิณ” ออกอาการหวาดหวั่นไม้น้อยโดยเฉพาะการยกการติดโควิด-19 มาเป็น “ข้ออ้าง” ขอเลื่อนการเข้าพบ พนักงานอัยการ ตามนัด เนื่องจากรู้แล้วว่า จะถูกนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาลทันที และมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว จนหาทางหน่วงเวลาออกไป

อย่างไรก็ดี “ทักษิณ” ก็ทำได้เพียงประวิงเวลาเท่านั้น เพราะ ในวันที่ 18 มิ.ย.67 ทาง อัยการสูงสุดนัด ก็ได้นัด “ทักษิณ” เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลอยู่ดี

ไม่เท่านั้นตัว “ทักษิณ” ก็ยังไม่นิ่งพอ ฟาดงวงฟาดงากระทบกระเทียบการถูกดำเนินคดี “มาตรา 112” ของตัวเอง ว่าเป็น “ผลไม้พิษ” เลยเถิดไปถึงว่า ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น เป็นเพราะพนักงานสอบสวนถูกรัฐบาลยุค คสช.ข่มขู่ คล้ายว่าไม่ยอมรับผลจากการกระทำของตัวเอง

อีกทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ของ อัยการสูงสุด ออกมา “ทักษิณ” ที่ดูเหมือนจะ “เว้นระยะ” กับ “คนเสื้อแดง” มาตลอดหลังได้รับการพักโทษ โดยไม่เคยไปร่วมอีเว้นท์ที่เกี่ยวกับคนเสื้อแดงแม้แต่งานเดียว กลับออกอาการโหยหามวลชนคนเสื้อแดงขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ทั้งการไปร่วมงานเลี้ยงฉลองบวชลูกชายนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี ที่ จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.67 หรือ การไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิดนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ก็มีการสอดแทรกถ้อยความเชิญชวนให้ “คนเสื้อแดง” กลับมาสนับสนุนตัวเอง และพรรคเพื่อไทย อีกครั้งอาจจะพูดได้ว่า “ทักษิณ” เริ่มกังวลว่าตัวเองจะมีภัยมาถึงตัว และตกอยู่ในสภาพ “หลังพิงฝา” จึงออกมาเพรียกหา “คนเสื้อแดง” คลับคล้ายคลาเป็นทำนองเดียวกับที่เคยปลุกมวลชนให้ออกมาต่อสู้เพื่อตัวเองช่วงที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ

รวมทั้งต้องติดตามด้วยว่าการต้องคดีมาตรา 112 ของ “ทักษิณ” จะนำมาซึ่งความวุ่นวายในทางการเมืองอีกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการได้ หรือไม่ได้รับการประกันตัว ที่ย่อมทำให้เกิดคำถามในเรื่อง “สองมาตรฐาน” เทียบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 รายอื่นๆ

หรือในจังหวะที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญ จัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่ง พรรคเพื่อไทย คุมเกมอยู่ จะปิดกล่องรวมคดีมาตรา 112 เข้าไปในแพกเกจสร้างความปรองดอง จนอาจเกิดครหา “นิรโทษฯ สุดซอย ภาค 2” รวมไปถึงความขัดแย้งภายในพรรคร่วมระฐบาลที่ยืนกรานไม่เห็นด้วยไปล่วงหน้าแล้ว

รวมไปถึงการวางอีเวนท์เดินทางไปในหลายจังหวัดแบบ “ธุระไม่ใช่” หลังได้รับการพักโทษ ที่ว่ากันว่าดูจะเป็นที่ขัดหู-ขัดตา “ขั้วอนุรักษ์นิยม” อยู่ไม่น้อย

กลายเป็นว่า วันนี้ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันกลับมาบรรจบกันได้อย่าง “ทักษิณ-บิ๊กป้อม” กลับมีสภาพ “หลังพิงฝา” จนต้องดิ้นเฮือกสุดท้ายคล้ายๆ กัน