‘จุลพันธ์’ สั่งจัดกลุ่มร้านค้า-ประชาชนทยอยลงทะเบียนรับดิจิทัล วอลเล็ต บี้ส่วนงานเร่งพัฒนาระบบรองรับ ยืนยันกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน-เดินทางไม่ได้ รับสิทธิ์ได้แน่นอน พร้อมล้อกคอกตายแล้วฟื้นร่วมแจมรับ 10,000 บาท เดินเครื่องเชื่อมโยงระบบปูพรมใช้ง่ายจ่ายคล่อง
วันที่ 24 พ.ค. 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ยืนยันว่ากรอบการดำเนินโครงการยังเป็นไปตามแผนงาน โดยจะเปิดให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และประชาชนจะได้รับเงินภายในไตรมาส 4/2567 โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ส่วนงานเร่งพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดลงทะเบียน ซึ่งได้กำชับเรื่องการบริหารจัดการการเข้าสู่ระบบการลงทะเบียน โดยอาจจะมีการจัดกลุ่ม หรือแบ่งกลุ่ม เพื่อให้ทยอยกันเข้ามาลงทะเบียน ส่วนรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการเร่งสรุป
“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เวลาเปิดให้มีการลงทะเบียนทุกครั้ง จะมีจำนวนเยอะมาก และถ้าทุกคนเข้ามาลงวันเดียวระบบจะรองรับลำบาก แม้ว่าขณะนี้การพัฒนาระบบจะทำได้แล้วระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อรองรับประชาชน ดังนั้น ในเรื่องการบริหารจัดการการเข้าสู่ระบบ การลงทะเบียน ก็อาจจะมีการจัดกลุ่มให้ทยอยกันเข้ามา ส่วนรายละเอียดยังต้องรอ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางได้ ยืนยันว่าจะยังสามารถเข้าร่วมโครงการได้แน่นอน โดยจะต้องมีการจัดเตรียมกลไกขึ้นมารองรับ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ส่วนงานไปดูรายละเอียดทุกอย่างให้รัดกุม โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันการใช้ผิดประเภท เพราะคลังต้องการยืนยันให้ได้ว่าเม็ดเงินของรัฐครั้งนี้จะไม่ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ถูกใช้โดยคนอื่นที่ม่มีสิทธิ์จริง จึงจะต้องมีการหากลไกมารองรับ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการดำเนินงานไม่มีอะไรง่าย อย่างเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีข้อจำกัด ดังนั้น ก็ต้องมาหาแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อรองรับคน 50-60 ล้านคน รวมทั้งยังมีคำถามมากมาย เช่น กรณีคนเสียชีวิตแล้วจะทำอย่างไร การสวมสิทธิ์นำบัตรประชาชนผู้เสียชีวิตแล้วมาใช้จะดำเนินการอย่างไร หรือเคยเจอคำถามว่า หากผู้ได้รับสิทธิ์มีการแจ้งตายแล้วฟื้นจะดำเนินการอย่างไร ประเด็นคำถามเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับภาครัฐจริง ๆ และยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่ตามหลักการแล้วหากเสียชีวิต ก็จะต้องถูกตัดสิทธิ์ทันที ขณะเดียวกันก็ต้องมาพิจารณากลไกเรื่องการอุทธรณ์สิทธิ์ด้วย เพื่อยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้เสียชีวิตจริง
นอกจากนี้ ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ในการเชื่อมโยงระบบลักษณะ Open Loop พบว่า หน่วยงานให้การตอบรับและแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นอย่างดี โดยหลังจากนี้จะมีการทำงานเชิงลึกของฝ่ายปฏิบัติว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การประชุมส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยในเงื่อนไขหลักการที่เป็นรายละเอียดต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น ร้านค้าที่เจ้าของเสียชีวิตจะทำอย่างไร เงินดิจิทัลที่อยู่ในเจ้าของร้านค้าที่เสียชีวิตจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องมีการเขียนผู้รับมรดกไว้ก่อนหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ถูกโยนเป็นคำถาม และส่วนงานจะต้องไปเร่งหาข้อสรุป
ขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบ การเช็คคุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการว่าถูกต้องและตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าประชาชนจะมีการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เรียบร้อยแล้วก็ตาม เช่น ต้องเช็คว่ามีอายุ 16 ปีจริงหรือไม่ และการจะเช็คว่าอายุ 16 ปีจริงหรือไม่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่กรมการปกครอง การตรวจสอบว่ามีรายได้ 8.4 แสนบาทต่อปี จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่กรมสรรพากร และการตรวจสอบว่ามีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่สถาบันการเงิน ซึ่งต้องมาดูว่าจะเชื่อมโยงเมื่อไหร่ ด้วยเทคนิคอะไร
“ตรงนี้ยอมรับว่าระบบหลังบ้านของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไม่ง่ายเลย เพราะติดปัญหาพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไข หรือดำเนินการอย่างไร รวมทั้งยังมีการหารือถึงรูปแบบในการยืนยันตัวตนที่จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลว่าจะเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าประชาชนรายดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขของโครงการอย่างถูกต้อง” นายเผ่าภูมิ กล่าว