“ซาลาดิน (Saladin)” หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญใน “สงครามครูเสด (Crusades)” เจ้าของฉายาผู้พิชิต
หากใครที่เคยอ่านซีรีส์เรื่อง “สงครามครูเสด (Crusades)” ที่ผมเคยเขียนไว้ น่าจะคุ้นชื่อของ “ซาลาดิน (Saladin)”
บทความนี้จะเป็นเรื่องราวของซาลาดินครับ
“ซาลาดิน (Saladin)” เป็นชื่อตะวันตกของ “เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ อิบน์ อัยยูบ (Salah al-Din Yusuf ibn Ayyub)” สุลต่านแห่งอียิปต์และซีเรีย ผู้ซึ่งสามารถพิชิตกองทัพครูเสดใน “ยุทธการที่ฮัททิน (Battle of Hattin)” และสามารถยึดเมืองเยรูซาเลมได้ในปีค.ศ.1187 (พ.ศ.1730)
ในช่วงที่เรืองอำนาจถึงขีดสุด ซาลาดินปกครองดินแดนมุสลิมที่ลากยาวตั้งแต่อียิปต์ไปถึงซีเรีย
ซาลาดินนั้นเป็นที่ยกย่องในฐานะของผู้นำทัพที่กล้าหาญ และเป็นที่ศึกษาจนถึงทุกวันนี้
ซาลาดินเกิดในปีค.ศ.1137 (พ.ศ.1680) หรือค.ศ.1138 (พ.ศ.1681) ที่เมืองติกรีต ซึ่งอยู่ในตอนกลางของอิรัก
ครอบครัวของเขานั้นมีเชื้อสายคูดิซทาน โดยพ่อและลุงของเขาเป็นแม่ทัพระดับสูงในกองทัพของ “อิมาด อัล-ดิน เซงกิ (Imad al-Din Zengi)” ผู้ปกครองดินแดนทางตอนเหนือของซีเรีย
ซาลาดินเติบโตในเมืองดามัสกัส และเข้าร่วมกับกองทัพที่มีผู้นำทัพคือลุงของซาลาดินนั่นเอง โดยลุงของซาลาดินได้ทำหน้าที่รับใช้พระโอรสของเซงกิ นั่นคือ “เนอร์แอ็ดดิน (Nur al-Din)” ติดตามทัพของเนอร์แอ็ดดินไปอียิปต์
ในปีค.ศ.1169 (พ.ศ.1712) ภายหลังจากที่ลุงของซาลาดินเสียชีวิต ซาลาดินจึงถูกเลือกให้ขึ้นเป็นผู้นำทัพของเนอร์แอ็ดดินในอียิปต์ และเป็นขุนนางใหญ่ในแคว้นกาหลิบราชวงศ์ฟาติมียะห์ ซึ่งปกครองอียิปต์ในเวลานั้น
ในปีค.ศ.1171 (พ.ศ.1714) ซาลาดินได้ขึ้นเป็นข้าหลวงแห่งอียิปต์ และตั้งเป้าที่จะลดทอนอำนาจของนิกายชีอะฮ์ และฟื้นฟูนิกายสุหนี่
เมื่อขึ้นสู่อำนาจ ซาลาดินก็ได้ทำให้อียิปต์แข็งแกร่งและเป็นฐานอำนาจของนิกายสุหนี่ในตะวันออกใกล้
ภายหลังจากเนอร์แอ็ดดินสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ.1174 (พ.ศ.1717) ซาลาดินก็ได้นำทัพ บุกยึดดินแดนต่างๆ ที่เนอร์แอ็ดดินเคยปกครอง
นอกจากนั้น ซาลาดินยังขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำดินแดนมหาอำนาจ สามารถท้าทายรัฐครูเสดในตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นมาภายหลังจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เมื่อปีค.ศ.1098-1099 (พ.ศ.1641-1642)
เมื่อเป็นสุลต่านแห่งอียิปต์ ซาลาดินได้เดินทางกลับไปซีเรีย และสามารถยึดดามาสกัส อเล็ปโป และโมสุล จากผู้นำชาวมุสลิมคนอื่นๆ
นอกจากนั้น ทัพของซาลาดินยังพิชิตเยเมน ซึ่งทำให้เขาสามารถแผ่อำนาจเข้าไปยังทะเลแดงได้อีกด้วย
นอกเหนือจากความสามารถทางการทหารแล้ว ซาลาดินยังรู้จักใช้ความสัมพันธ์ในการขยายอำนาจ โดยเขาได้แต่งงานกับอดีตมเหสีของเนอร์แอ็ดดิน ซึ่งมีฐานะเป็นหลานของผู้ปกครองดามัสกัส ทำให้ซาลาดินยิ่งทรงอำนาจมากกว่าเดิม
ในที่สุด ซาลาดินก็ได้รับแรงสนับสนุนจากมุสลิม จนตั้งตัวเป็นผู้นำ “ญิฮาด (Jihad)” หรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องอิสลามจากชาวคริสต์
เป้าหมายของซาลาดินคือการรวบรวมดินแดนมุสลิมในซีเรีย ภาคเหนือของเมโสโปเตเมีย ปาเลสไตน์ และอียิปต์ และนำดินแดนเหล่านี้มาอยู่ใต้อำนาจของเขา และภายในปีค.ศ.1186 (พ.ศ.1729) เขาก็ทำได้สำเร็จ
ภายหลังจากสู้รบกับพวกแฟรงค์เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ซาลาดินก็เตรียมจะโจมตีครั้งใหญ่ในปีค.ศ.1187 (พ.ศ.1730) โดยการรวบรวมทัพจากทางใต้ของดามัสกัส และทัพอียิปต์จากอเล็กซานเดรีย
ทัพของซาลาดินได้ปะทะกับกองทัพแฟรงค์ที่ฮัททิน และทัพของซาลาดินก็สามารถพิชิตกองทัพแฟรงค์ได้ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 (พ.ศ.1730)
ชัยชนะที่ฮัททิน ตามมาด้วยชัยชนะในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 (พ.ศ.1730) เมื่อเยรูซาเลมยอมแพ้ต่อซาลาดิน ภายหลังจากที่เยรูซาเลมตกอยู่ใต้อำนาจของชาวคริสต์เป็นเวลานานกว่า 88 ปี
ในทีแรก ซาลาดินคิดจะประหารชาวคริสต์ในเยรูซาเลมทั้งหมด เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ชาวมุสลิมถูกสังหารในปีค.ศ.1099 (พ.ศ.1642) แต่สุดท้าย ซาลาดินก็ปล่อยชาวคริสต์ให้เป็นอิสระ
ในเวลานั้น ซาลาดินสามารถยึดครองเมืองสำคัญหลายเมืองจากกองทัพครูเสด แผ่อิทธิพลออกไปอย่างกว้างไกล
ภายหลังจากที่ซาลาดินยึดเยรูซาเลมมาได้ไม่นาน “สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 3 (Pope Gregory III)” ก็ได้เรียกชุมนุมทัพ จัดสงครามครูเสดครั้งใหม่ หวังจะยึดเมืองคืน
ในปีค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) กองทัพชาวคริสต์ได้เคลื่อนพลที่เมืองไทร์ เตรียมพร้อมก่อสงครามครูเสดครั้งที่สาม ซึ่งสงครามนี้ นำโดยกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจถึงสามพระองค์ นั่นคือ “จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick I, Holy Roman Emperor)” “พระเจ้าฟีลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France)” และ “พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)”
กองทัพครูเสดได้บุกเมืองเอเคอร์ และสามารถยึดเมืองได้ในปีค.ศ.1191 (พ.ศ.1734) แต่ถึงอย่างนั้น ซาลาดินก็สามารถต้านทานทัพครูเสดและรักษาดินแดนส่วนใหญ่เอาไว้ได้
สงครามครูเสดครั้งที่ 3 จบลงในปีค.ศ.1192 (พ.ศ.1735) โดยซาลาดินได้ตกลงสงบศึกกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ
ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1193 (พ.ศ.1736) ซาลาดินก็ได้เสียชีวิตในสวนที่ดามัสกัส
ในเวลานั้นเขามีอายุยังไม่ถึง 60 ปี หากแต่ก็ตรากตรำทำศึกมาเป็นเวลานาน และเมื่อเสียชีวิต เขาก็ได้ยกทรัพย์สมบัติเกือบทั้งหมดให้แก่ประชาชนของเขา มากซะจนไม่เหลือเงินฝังศพตัวเองด้วยซ้ำ
และจนถึงทุกวันนี้ ชื่อของซาลาดิน ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อที่สำคัญในประวัติศาสตร์สงครามครูเสด
—–
References: https://www.history.com/topics/africa/saladin
https://www.ducksters.com/history/islam/saladin.php
https://www.worldhistory.org/Saladin/
https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Saladin
ต้นฉบับ: https://www.blockdit.com/posts/612e5b66bc152d0d53e4fcea
Cr. Timeless history-ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา