‘นิด้าโพล ’เปิดมุมมองประชาชน ทุบเปรี้ยง ‘ค่าแรง’ขึ้น คุ้มมั๊ยกับ‘ค่าแกง’?

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ ‘นิด้าโพล’ สำรวจความเห็นประชาชน ต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ส่วนใหญ่ตั้งคำถาม คุ้มมั๊ยกับ ค่าครองชีพที่จะถีบตัวขึ้นเช่นกัน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ค่าแรงขึ้น… คุ้มมั๊ย กับ ค่าแกง?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.50 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ , รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2567 , ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศในปีนี้ , ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ และร้อยละ 0.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.23 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น , รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย , ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น , ร้อยละ 10.23 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 4.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะเริ่มทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น , รองลงมา ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย , ร้อยละ 23.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น , ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะคุ้มกับค่าอาหารและค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า

+ ร้อยละ 60.84 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะไม่คุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น

+ ร้อยละ 23.97 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะคุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น

+ ร้อยละ 9.46 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เหตุผลหลัก ที่ทำให้ค่าอาหาร ค่าครองชีพสูงขึ้น

+ ร้อยละ 4.89 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

+ ร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ