“พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” ดิ้นทุกวิถีทาง อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ แฉขบวนการ 4 ต. รวมหัวให้ถูกเด้ง! กางข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ กรณีให้ออกจากราชการ ต้องใช้กฎ ก.ตร.ปี 2547
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) กรณี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการไว้ก่อนโดยมิชอบ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน 2 ส่วน คือ ก.พ.ค.ตร. และ ก.ตร. เพื่ออุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ลงนาม โดยนำแผนผัง “ขบวนการ 4×100 สยบปีกพระพรหม” ของกลุ่มที่มีการทำเป็นขบวนการมาแสดง ประกอบด้วย 4 ชุด คือ ชุดตรวจค้นบ้าน ตระกูลสี่ ต.เต่า พนักงานสอบสวนชุดคดีสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ พนักงานสอบสวนชุดคดีสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน และชุดรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมกันทำเป็นขบวนการตั้งแต่การเข้าตรวจค้นบ้าน การใช้อำนาจสอบสวน นำไปสู่การออกหมายเรียก หมายจับ จากนั้นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีคำสั่งให้ตนออกจากราชการไว้ก่อนในวันที่ 18 เม.ย. และนำส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ทันที ในวันที่ 19 เม.ย.โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีการสร้างเรื่องเกี่ยวกับเว็บพนัน และเข้าแจ้งความในคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ โดยให้พนักงานสอบสวนรับคดีตั้งแต่ 2558 และดำเนินคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง 8 คน โดยใช้กลไกศาลดำเนินการกับตน พร้อมกับส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา 1 ใน 8 ลูกน้องของตนเอง
ซึ่งคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่มี พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ส่วนสำนวนคดีพนันออนไลน์ BNK Master มี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งย้ำว่าทั้ง 2 สำนวนตำรวจไม่มีอำนาจในการสอบสวน และที่ผ่านมาตัวเองได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับกระทั่งตนเองถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2566 นำไปสู่การมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เนื่องจากตนเองถูกกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2566 ขณะนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตนเองยังคงปฏิบัติหน้าที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ หากตนเองทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการจริง ก็ต้องให้ออกตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว ต่อมาตนเองยังถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. รวมระยะเวลาทั้งหมด 29 วัน จะมีอำนาจเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร
นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้กางข้อกฎหมายพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 พร้อมระบุว่า “กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องใช้ กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 47 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้ขัดแย้งกันในข้อกฎหมายตามที่กล่าวไป จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา แต่พบว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกัน จึงต้องยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการนี้ไปโดยปริยาย เพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 65 ยังระบุว่า ระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาคหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร“กรณีของตนนั้นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ ดังนั้นจึงไม่มีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพาณิชย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า โดยการกระทำดังกล่าวรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องติดคุก อีกทั้งที่ผ่านมามีตำรวจกว่า 500 นายที่ถูกดำเนินคดีแต่ไม่มีใครถูกสั่งให้ออกจากราชการเหมือนกับตนเอง อีกทั้งยังได้สอบถามกับ ผอ.กองวินัย ซึ่งระบุว่าได้มีการประมวลเรื่องดังกล่าวไว้ 2 วันก่อนจะมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ คือมีการร่างคำสั่งให้ออกราชการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. และลงนามในวันที่ 18 เม.ย. แสดงให้เห็นว่า มีขบวนการให้ตนเองออกจากราชการ
โดยหลังจากนี้จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการกฎหมาย กมค., ผู้บังคับการกองคดี, ผู้บังคับการสารนิเทศ, เลขานุการ ตร. รวมถึงผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีที่มาปลดป้ายตนเองและปลดจากทำเนียบผู้บังคับบัญชาออก ทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตนเองออกจากราชการ ในขณะที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่ไปทำงานที่ สมช.นานแล้ว ยังไม่มีการปลดป้าย ถือเป็นการทำให้ตนเองเสื่อมเสีย ดังนั้นจะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งหมด แต่ถ้าจะให้ตนเองเมตตาก็ต้องมาบอกกับตัวเองว่าใครเป็นผู้สั่งการ
“ผมไม่ใช่ผู้ต้องหาแต่เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เพราะตราบใดก็ตามที่ ป.ป.ช. ยังไม่มีการชี้มูลความผิด ผมก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และยังมีคุณสมบัติที่จะเป็น ผบ.ตร.ได้ทุกอย่าง อีกทั้งยังถือว่าขณะนี้ผมเป็นรองผบ.ตร. อันดับ 1” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว