ไอลอว์ จับพิรุธ “สมชาย แสวงการ” ตัดแปะข้อมูลใส่เล่มดุษฎีนิพนธ์จบ “ด็อกเตอร์”

iLaw จับ พิรุธ “สมชาย แสวงการ” ตัดแปะลอกข้อมูลหลายแหล่งใส่เล่มจบด็อกเตอร์ โดย มีทั้งรูปแบบ ที่อ้างอิง และ ไม่อ้างอิง ชี้มีข้อมูลที่เหมือนกันทุกตัวอักษร กว่า30 หน้า

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยข้อมูลว่า ดุษฏีนิพนธ์ ของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ประกอบการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2565 โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต มีการคัดลอกข้อความจากหนังสือ เอกสารทางวิชาการ งานวิทยานิพนธ์ ตลอดจนบทความของ iLaw มาประกอบเล่มจบด๊อกเตอร์ของตัวเอง ทั้งแบบอ้างที่มาและไม่อ้างที่มา โดยพบว่าเป็นการคัดลอกในลักษณะการตัดแปะข้อความ พิมพ์เหมือนกันทุกตัวอักษร มีเพียงการสลับตำแหน่งกันเล็กน้อย

iLaw ระบุว่า เล่มดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชาย มีความยาว 264 หน้า เพื่อสำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ยกตัวอย่างกรณีการคัดลอก โดยพบว่ามีการคัดลอกข้อความจากหนังสือ “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” ของสถาบันพระปกเกล้า เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และ ชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า โดยลอกทั้งทางตรง และเนื้อหาในเชิงอรรถ

และยังคัดลอกข้อความโดยไม่ดัดแปลง แต่ใส่เพียงอ้างอิง เช่น คัดลอกจาก “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. และวิทยานิพนธ์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ตีพิมพ์ในปี 2560 ของ วัชรพล โรจนวงรัตน์ รวมถึงยังคัดลอกข้อความจากงานของ iLaw ในบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” มาประกอบดุษฏีนิพนธ์ด้วย