กรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นองค์ประธาน ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศ “ไทย-จีน”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน “ไทย-จีน” ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศและสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง
วันที่ 5 เม.ย.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration : CNSA)

โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. นายจาง เค่อเจี๋ยน (Zhang Kejian) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและเป็นสักขีพยานการลงนามที่มี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. และนายสวี จ้านปิน (Xu Zhanbin) รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ของทั้งสองฝ่าย ณ สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการและวิดีทัศน์เกี่ยวกับสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ณ Cohesion Design Facility (CDF), LESEC และทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ประกอบและทดสอบยานอวกาศและดาวเทียม (Assembly Integration and Test Center) ณ China Academy of Space Technology (CAST) ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ไทยและจีนจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานร่วมในด้านการสำรวจอวกาศ การประยุกต์ใช้อวกาศ การพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ และสาขาอื่น ๆ เพื่อวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ โครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการร่วมจัดประชุมทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และการเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นไปที่การสาธิต

การดำเนินโครงการ การดำเนินงานและการประยุกต์ใช้สถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ จัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการวิจัยและจัดทำแผนความร่วมมือ ในขณะเดียวกัน ยังคงต้อนรับประเทศอื่น ๆ องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย หน่วยงานอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และรับประโยชน์จากกิจกรรมการสำรวจอวกาศร่วมกัน

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ไทยและจีนลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศ เพื่อร่วมกันสร้างโครงการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือเชิงพื้นที่แม่โขง-ล้านช้าง และโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลการสำรวจระยะไกลแม่โขง-ล้านช้างและในปี พ.ศ. 2566 อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (Space Weather) ที่พัฒนาโดยประเทศไทยและได้รับเลือกให้บรรทุกไปกับยานฉางเอ๋อ-7 (Chang’e 7) ซึ่งในอนาคตไทยและจีนจะร่วมมือกันในภารกิจสำรวจดวงจันทร์