สมาคมคลองไทยฯ บุกสภาฯ ยื่นหนังสือ “ครูมานิตย์” ตั้งกมธ.วิสามัญ ศึกษาเชิงลึก

22

ไม่ลดละ !! สมาคมคลองไทยภาคประชาชน บุกสภาพบประธานกรรมาธิการคมนาคม จี้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาในเชิงลึก “ครูมานิตย์” ย้ำว่า รัฐบาลเดินหน้าแลนด์บริดจ์ สส.รัฐบาลก็ต้องสนับสนุน

วันที่ 3 เม.ย.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา สมาชิกสมาคมคลองไทยภาคประชาชน นำโดย น.ส.เสาวณี ทองทรัพย์ นายกสมาคม ดร.สุเมต สุวรรณพรหม กรรมการสมาคม และ สมาชิกระดับนำอีกหลายคน เดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึง ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานกรรมาธิการการคมนาคม เพื่อขอให้ดำเนินการสานต่อนำโครงการคลองไทยมาศึกษาในเชิงลึก เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน โดยครูมานิตย์ได้ลงมารับหนังสือในระหว่างการประชุมสภาพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐสภา ตามมาตรา 153 (ไม่มีการลงมติ)ครูมานิตย์ กล่าวว่า ยินดีรับหนังสือไว้พิจารณา และนำเสนอต่อไป “แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเวลานี้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี กำลังผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร อยู่ การที่ผมในฐานะ สส.พรรครัฐบาล ก็ต้องให้การสนับสนุนรัฐบาล แต่โครงการคลองไทย ก็ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม แล้วผมจะช่วยผลักดันแน่นอน”

ทั้งนี้ในสภาชุดที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาศึกษาแล้ว แต่ด้วยกลเกมทางการเมือง ทำให้รายงานผลการศึกษาตกไปอย่างน่าเสียดาย แต่สมาคมคลองไทยภาคประชาชนก็ไม่ลดละ ไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าผลักดันโครงการคลองไทยต่อไป ทั้งถวายฏีกา และส่งหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการล่ารายชื่อประชาชน เพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารกิจการคลองไทยเข้าสู่การพิจารณาของสภา

ที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยมีหนังสือตอบกลับมายังสมาคมคลองไทยภาคประชาชน ความตอนหนึ่งว่า สภาพัฒน์ฯเคยร่วมกับศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของไทยพบว่าการเชื่อมโยงการขนส่งสองฝั่งทะเล ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูงมาก มีผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การประเมินความเหมาะสมทางด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ ไม่คุ้มค่าการลงทุน ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งจะได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ไม่ว่าด้วยเทคโนโลยีใดๆ ทั้งยังกระทบต่อความเป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นฐาน โดยสภาพัฒน์เสนอให้รัฐบาลทบทวนและต่อยอดแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เป็นศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาค เป็นต้น