จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทวี สอดส่อง รมว.ยธ. ร่วมงานละศีลอด รอมฎอน ฮ.ศ.1445 ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ”
วันที่ 1 เม.ย.2567 นายอรุณ บุญชม (มุฮัมมัด ญะลาลุดดีน อิบน์ ฮุซัยน์) จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) เดินทางมาร่วมงานละศีลอด เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1445 ในการเปิดโครงการ “Mahabbah Ramadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรีโดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และบุคลากรของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสแห่งเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ที่มุสลิมทั่วโลกร่วมปฏิบัติศาสนกิจกระทรวงยุติธรรม โดย กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตระหนักในคุณค่าและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ มีกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาของผู้ต้องขังแต่ละคนโดยผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและวางแผน การปฏิบัติรายบุคคลอย่างเหมาะสม เรือนจำพิเศษมีนบุรี จึงจัดโครงการ “MahabbahRamadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลิกภาพ ฝึกความอดทนทั้งทางร่างกาย และฝึกจิตใจของผู้ถือศีลอดให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเสียสละและรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือ การคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากภาคสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ให้กำลังใจ และให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังดังคำขวัญที่ว่า “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” ซึ่งในโครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป ได้บริจาคปัจจัยต่าง ๆ ในกิจกรรมถือศีลอด เพื่อร่วมเป็นกำลังใจในการเสริมสร้างให้ผู้ต้องขังทำความดี โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้ต้องขังมุสลิม เข้าร่วมโครงการ “MahabbahRamadan อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ” จำนวนทั้งสิ้น 419 คน ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ.ศ. 2567 ของกระทรวงยุติธรรมด้านการพัฒนาระบบหรือโปรแกรมการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดที่หลากหลายและมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่ม เพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาจิตใจ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นไปในทางที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ได้ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมต่อไป
พ.ต.อ.ทวี กล่าวให้โอวาทและสื่อสารส่งมอบความรักความห่วงใยในโอกาสแห่งเดือนรอมฎอนแก่ผู้ต้องขังว่าปัจจุบันประเทศไทยเราไม่ได้มีการแบ่งแยกกัน แต่เป็นการให้ความเคารพ ความแตกต่างที่หลากหลายแก่กัน ซึ่งเรานั้นมีการให้เกียรติ และให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังทุกคนเป็นอย่างมาก ดังนั้น ขอให้กำลังใจผู้ต้องขังทุกคนก้าวสู่การเป็นอนาคตของชาติในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี โดยให้คิดว่าเรือนจำนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ การฝึกฝน การพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อก้าวสู่สังคมที่ดี โดยเวลาที่อยู่ในเรือนจำเราจะรู้คุณค่าของเสรีภาพ ดังนั้น ถือว่างานในวันนี้ไม่ใช่เพียงการมาพบปะแต่อย่างใด แต่จะมาสื่อสารสร้างการรับรู้ว่าเรือนจำนั้นเป็นการสร้างคนที่คืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป